สายการบินไทยพาเราเหินฟ้าจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิตั้งแต่เวลา 07.45 น. เพื่อข้ามทะลไปยังท่าอากาศยานนานาชาตินินอย อาเกียโน่ (Ninoy Aquino) ด้วยเวลาบินราว 3 ชั่วโมง แต่เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์เวลาเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง แม้เราจะเลือกเดินทางด้วยเที่ยวบินเช้าสุด เราก็มาถึงกรุงมะนิลาในเวลาเที่ยง ซึ่งก็ยังดีที่อย่างไงเสีย วันนี้เราก็ยังมีเวลาเที่ยวกรุงมะนิลาได้อีกตั้งครึ่งวัน

ก่อนที่จะบินถึงมะนิลา เรามารู้เรื่องราวในแง่ภูมิศาสตร์ และหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์กันสักหน่อย ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกันก่อตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภูมิศาตร์เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่มากถึง 7,107 เกาะ มีเกาะลูซอน (Luzon) เป็นเกาะใหญ่สุด มีพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของประเทศ โดยกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะนี้ เกาะที่มีขนาดรองลงมาคือเกาะมินดาเนา (Mindanao) กับ เกาะปาลาวัน (Palawan) ตั้งอยู่ทางตอนใต้กับตะวันตกของประเทศตามลำดับ สำหรับตอนกลางของประเทศเต็มไปด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ กระจัดกระจายกัน มีชื่อเรียกรวมๆว่า หมู่เกาะวิสายาส์ (Visayas) มีเกาะซีบู (Cebu) เป็นจุดศูนย์กลางทั้งในแง่การเดินทาง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เนื่องจากภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะนี้เอง ทำให้เมื่อกว่า 5 ร้อยปีก่อน จึงยังไม่เกิดการรวมตัวเป็นอาณาจักร โดยมีการปกครองกันเองในแต่ละเกาะในลักษณะชนเผ่า จนเมื่อเกิดการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ด้วยจุดประสงค์แรกคือการต้องการเครื่องเทศ ซึ่งเป็นพืชที่ไม่สามารถปลูกได้ในยุโรป สเปนเป็นชาติแรกที่ส่งคณะสำรวจเดินทางมายังมหาสมุทรแปซิฟิก จนพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในปีค.ศ.1542 ซึ่งชื่อประเทศฟิลิปปินส์นี้ ก็มาจากการเทิดพระเกียรติเจ้าชายฟิลิป โอรสของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งสเปน ซึ่งครองราชย์เป็นพระเจ้าฟิลิปในเวลาต่อมา

ในปีค.ศ.1564 ประเทศสเปน ภายใต้การปกครองของพระเจ้าฟิลิปได้ส่งกองเรือเดินทางมายึดหมู่เกาะฟิลิปปินส์ โดยเกาะแรกที่ชาวสเปนเข้ายึดครองคือเกาะซีบู จากนั้นจึงขยายอาณานิคมไปยังเกาะต่างๆจนครอบคลุมทั้งหมู่เกาะ จนปีค.ศ.1571 ได้ตั้งเมืองมะนิลาให้เป็นเมืองหลวงของอาณานิคม

การที่ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของสเปนเป็นเวลากว่า 3 ร้อยปีนี้เอง ทำให้คนฟิลิปปินส์ที่เดิมปกครองกันในลักษณะชนเผ่าที่ต่างเผ่าต่างอยู่ ไม่ได้มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ได้รับเอาวัฒนธรรมของชาวสเปนเข้ามาเป็นวัฒนธรรมของตนเองแบบเต็มๆ รวมทั้งในแง่จิตวิญญาณ ก็เปลี่ยนจากการนับถือภูตผีและการบูชาธรรมชาติ เป็นการนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ด้วยเหตุนี้ฟิลิปปินส์จึงเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ยกเว้นในเกาะมินดาเนาที่ตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เหมือนประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน

แม้จะอยู่ใต้การปกครองของสเปนเป็นเวลากว่า 3 ร้อยปี และสเปนได้ปลูกฝังการเคารพต่อเจ้าอาณานิคมผ่านระบบการปกครองและการศึกษา แต่การปกครองแบบแบ่งชนชั้นระหว่างเจ้าอาณานิคมกับชนพื้นเมืองก็บ่มเพาะความไม่พอใจลึกๆจากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดการเรียกร้องอิสรภาพขึ้น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ ก็ค่อยๆขยายฐานอำนาจมายังภูมิภาคนี้ ได้ส่งเรือรบมาถล่มกองเรือของสเปนที่อ่าวมะนิลาจนย่อยับ ในปีค.ศ.1898 ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการเป็นเจ้าอาณานิคมของสเปนในประเทศฟิลิปปินส์อย่างถาวร

แม้จะได้เอกราชจากสเปน แต่ฟิลิปนส์ก็ตกอยู่ใต้การครอบงำของสหรัฐอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฟิลิปปินส์ได้กลายเป็นฐานทัพสำคัญของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ แต่อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาก็ได้สร้างระบบการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจ และการเมืองแบบประชาธิปไตยขึ้น ทำให้ช่วงหนึ่งฟิลิปปินส์ได้ขึ้นตำแหน่งเป็นประเทศผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้รับการพัฒนาล้ำหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยปัญหาทางการเมือง และการคอรัปชั่นทำให้เศรษฐกิจหยุดการพัฒนาไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปล่อยให้เพื่อนบ้านหลายประเทศพัฒนาจนแซงหน้าไปหลายก้าว แต่อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ได้พยากรณ์ไว้ว่า หากประเทศหนึ่งที่พวกเรารู้จักกันดี ยังเต็มไปด้วยปัญหาการเมืองและนักการเมืองที่เห็นว่าการคอรัปชั่นคือสิ่งที่ทำได้โดยไม่อายฟ้าดิน อีกไม่กี่ปีประเทศฟิลิปปินส์ที่เพิ่งฟื้นตัวคงได้แซงหน้าประเทศนั้นแบบไม่เห็นฝุ่น

รู้ประวัติศาสตร์ย่อๆพอหอมปากหอมคอเพียงเท่านี้ก่อน    เพราะโปรแกรมการเดินทางส่วนหนึ่งของเราในทริปนี้ได้วางแผนไปเยือนสถานที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์หลายต่อหลายแห่ง ไว้ถึงสถานที่แต่ละแห่งแล้วค่อยเล่าเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ที่สุดแสนน่าสนใจกันต่อดีกว่า

เราบินผ่านเกาะน้อยใหญ่หลายต่อหลายเกาะ จนเครื่องบินค่อยๆลดเพดานบินเมื่อเข้าเขตเกาะลูซอน และจอดอย่างสงบนึ่งที่สนามบินนานาชาตินินอย อาเกียโน่ จากนั้นเราต้องใช้เวลาต่อแถวนานกว่าครึ่งชั่วโมงในการรอการตรวจคนเข้าเมือง เนื่องจากช่องสำหรับชาวต่างชาตินั้นมีแค่ 3 ช่อง อีกทั้งยังเปิดๆปิดๆ ทำให้การต่อแถวต้องย้ายไปย้ายมาจนงงไปหมด แต่นั่นก็เป็นเวลาพอดิบพอดีกับที่กระเป๋าเดินทางของเราถูกลำเลียงมาทางสายพาน จนแอบคิดเล่นๆว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนมืองคงประมาณเวลามาดีแล้ว เพราะแม้จะผ่านการตรวจคนเข้าเมืองมาเร็วก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอย่างไงก็ต้องรอกระเป๋าเดินทางอยู่ดี

โดยทั่วไปแล้วที่อาคารผู้โดยสารขาเข้าของสนามบินนานาชาติทั่วไป ต้องมีเคาน์เตอร์การท่องเที่ยวประเทศนั้นๆ ที่สนามบินนินอย อาเกียโน่ก็มีเช่นกัน แต่ที่น่าแปลกคือ แม้จะมีเคาน์เตอร์ แต่ก็ไม่พบเจ้าหน้าที่สักคน แถมจะไม่มีแผนที่หรือแผ่นพับในการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเลย แม้แต่แผนที่เส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงมะนิลาก็ไม่มีสักฉบับ จนรู้สึกว่าประเทศนี้เขาไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวกันเลยหรือไร

จริงๆแล้วสนามบินนินอย อาเกียโน่นั้นตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองมาก แต่เส้นทางรถไฟฟ้ายังมาไม่ถึง เราจึงต้องใช้บริการรถแท็กซี่ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับราคาค่าโดยสาร ซึ่งดูเหมือนจะดีว่าคงได้ราคาตามมาตรฐานแน่ๆ แต่เอาเข้าจริงๆแม้จะมีมิเตอร์ แต่แท็กซี่ที่จอดรอผู้โดยสารที่สนามบินนี้กลับไม่กดมิเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่เป็นคนกำหนดราคาค่าโดยสาร จากสนามบินสู่ตัวเมืองที่ใช้เวลาวิ่งไม่ถึงครึ่งชั่วโมงนี้ เราต้องเสียค่าแท็กซี่ในราคาสูงถึง 730 เปโซ

“เอ๋ มีเลือดไหลออกจากหัว” จุ๋ยบอกผมขณะที่นั่งรถแท็กซี่เข้าเมือง เพราะแค่ก้าวแรกในฟิลิปินส์ เราก็ถูกตีจนหัวแปะแล้วหรือนี่

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 20.07 น.

ความคิดเห็น