ผมรู้สึกอึดอัดเหมือนตกอยู่ในสภาวะกดดันอะไรซักอย่าง

ขณะเดินอยู่ในอุโมงค์แคบๆ ขนาดคนพอเดินเอียงสวนกันได้

ยังดีที่มีแสงไฟคอยส่องสว่างพอให้มองเห็นร่องรอยของอดีต

ร่องรอยแห่งการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ที่แตกต่าง


ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่ถึงชั่วโมง

ผมรู้สึกใจคอไม่ดีกับบรรยากาศสองข้างทางที่เปลี่ยวครึ้มไปด้วยสวนยางพารา

นานๆ จะมีรถของชาวบ้านสวนมาซักคัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีอะไร

แต่ความหวาดระแวงมันไม่เคยรับฟัง และค่อยๆ ครอบงำจนใจคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา

ไม่นานนักถนนก็ค่อยๆ ยกระดับเพิ่มความคดเคี้ยวไปตามความสูงชันของขุนเขา

หายลึกเข้าไปในป่าทึบของพื้นที่ชายแดนไทยมาเลเซียในเขตอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

ว่ากันว่าในยามเช้าภูเขาลูกนี้จะมีน้ำค้างเกาะตามใบไม้ใบหญ้าไปทั่วทั้งอาณาบริเวณ

พอกระทบกับแสงแดดจะระยิบระยับแพรวพราวสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์

สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า“เขาน้ำค้าง"


แต่นี่ตะวันจะตรงหัวอยู่แล้ว ผมไม่ได้มาสนใจกับน้ำค้างอะไรหรอก

เพราะตอนนี้ผมกำลังอยู่ในพื้นที่ที่อดีตไม่มีใครกล้าเข้ามาเนื่องจากเป็นเขตหวงห้าม

เป็นพื้นที่สีแดงที่เคยเป็นฐานปฏิบัติการของโจรจีนก่อการร้ายคอมมิวนิสต์!

ไม่น่าเชื่อว่ากลางป่าเขาทุรกันดารเช่นนี้จะมีหมู่บ้านตั้งอยู่!

ผมค่อยๆ ก้าวลงจากรถเดินผ่านซุ้มประตูที่มีข้อความ “สันติภาพ 1930-1989 PEACE" เข้าไปภายในหมู่บ้านปิยมิตร 5

อดีตที่ตั้งของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงัด



“สวัสดีสหาย"

ป้ายทักทายผู้มาเยือนและมันเป็นคำทักทายของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่

ปืน ลูกระเบิด อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมถึงภาพถ่ายในอดีต

สะท้อนร่องรอยของการต่อสู้อันยาวนานของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่สถาปนาขึ้นแบบใต้ดิน

เพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นของอังกฤษที่เข้ามายึดครองมาเลเซียตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ภายหลังถูกฝ่ายรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การปกครองของอังกฤษกวาดล้างอย่างหนัก

จนถูกผลักดันถอยร่นเข้ามายังเขตไทยกระจายซ่อนตัวอยู่บนภูเขาและป่าทึบตามแนวตะเข็บชายแดน

หนึ่งในนั้นคือกรมที่ 8 ของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาได้เข้ามายึดเขาน้ำค้างเป็นฐานบัญชาการมีกองกำลังประมาณ 600 นาย



ฐานที่มั่นแห่งนี้มีความลับบางอย่างที่ทำให้สามารถหลบซ่อนตัวอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้นานนับสิบปี

เพราะไม่ว่าจะถูกระดมโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่สามารถเข้ายึดฐานที่มั่นแห่งนี้ได้

ความลับที่ว่าคือ 'อุโมงค์'



มันเป็นอุโมงค์แห่งอุดมการณ์ที่แม้จะคับแคบ หากแต่ภายในนั้นลึกลับซับซ้อน

มันถูกขุดเจาะเข้าไปในภูเขา เจาะลึกเข้าไปในความคิดที่ถูกลัทธิสังคมนิยมปลูกฝัง

ปลูกฝังให้เชื่อว่าสามารถสร้างสังคมในอุดมคติที่มีความเท่าเทียมกันทุกคน

สังคมแบบนี้มันมีอยู่จริงหรือ?


อุโมงค์เขาน้ำค้างถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ใช้กำลังคน 200 คนต่อวัน

มีทางเข้าออก 16 ช่องทาง มีป้อมยามรักษาการ 7 ป้อม ใช้ระยะเวลาในก่อสร้างประมาณ 2 ปี



ภายในทำเป็นทางเดินเชื่อมต่อถึงกันรวมระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร จัดแบ่งเป็นห้องต่างๆ

ที่มีทั้งห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องครัว ห้องพัก ห้องวิทยุสื่อสาร ห้องท่านผู้นำ ที่ฝึกซ้อมยิงปืน และที่ฝึกยานพาหนะ



ตัวอุโมงค์ถูกออกแบบให้อากาศภายในถ่ายเทได้เป็นอย่างดี

แต่ผมกลับรู้สึกอึดอัด รู้สึกกดดันจนหนักหัว

ที่รู้สึกเช่นนั้นมันอาจเป็นเพราะความมืด ความคับแคบของพื้นที่

หรือบางทีอาจเป็นเพราะผมกำลังเดินลึกเข้าไปในความขัดแย้ง

ในอำนาจ ในการแสวงหาผลประโยชน์ ในการโหยหาอิสรภาพ

ลึกเข้าไปในห้วงของอดีตที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือดและควันปืน



การต่อสู้อันยาวนานของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายายุติลงในปี พ.ศ. 2530 หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย

จีนระงับการส่งความช่วยเหลือทุกอย่าง และถูกทางการไทยร่วมกับมาเลเซียเข้าปราบปราม

กรมที่ 8 แห่งพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาจึงยอมวางปืนและกลับใจหันมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ทิ้งอุโมงค์เขาน้ำค้างไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รำลึกถึงการต่อสู้

รำลึกถึงสงครามความขัดแย้งของมนุษย์ที่สุดสายปลายอุโมงค์ก็จบลงด้วยการร้องหา 'สันติภาพ'

'สันติภาพ' ที่จริงๆ มันก็มีอยู่แล้ว เสียดายที่มนุษย์ไม่เคยมองเห็นตั้งแต่ปากทางเข้าอุโมงค์



เส้นทางของไอฟายน้อยสู่อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง

จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษมยิงยาวไปจนถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมระยะทางประมาณ 944 กิโลเมตร

ใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง (ถ้าขับรวดเดียวไหว!)



ถึงตัวอำเภอหาดใหญ่ให้เลี้ยวขวาไปยังอำเภอสะเดาตามทางหลวงหมายเลข 4 อีกประมาณ 40 กิโลเมตร

เป็นถนนสี่เลนอย่างดี

พอถึงตัวอำเภอสะเดาให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4243 เป็นถนนสองเลนลาดยางอย่างดีและไม่ค่อยมีรถ

ตรงไปตามทางประมาณ 22 กิโลเมตร สังเกตป้ายอุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง

ให้เลี้ยวขวาไปตามป้ายอีกประมาณ 2 กิโลเมตร

ถึงลานจอดรถของหมู่บ้านปิยมิตร 5 อุโมงค์อยู่ด้านใน



เสียค่าบำรุงสถานที่ก่อนเข้าชมอุโมงค์และพิพิธภัณฑ์ 40 บาท

ซึ่งผู้ดูแลสถานที่ก็คือเหล่าสหายในอดีตนั่นเอง!




ติดตามผลงานเรื่องอื่นๆ ของไอฟายน้อยได้ที่http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=ifind&month=02-07-2016&group=13&gblog=8



I-FINDNOI

 วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เวลา 13.43 น.

ความคิดเห็น