ขึ้นชื่อว่า “เรือนจำ” หรือ “คุก” หลายคนมักนึกถึงภาพห้องขังที่เรียงรายกันเป็นแนวเพื่อใช้สำหรับกักขังหรือจองจำนักโทษในคดีอาญาต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดภายหลังจากที่ศาลตัดสินโทษ ด้วยความที่เราสงสัยและอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตนักโทษภายในเรือนจำว่าแต่ละวันเขาทำอะไรกันบ้าง? เราจึงเสาะหาข้อมูลมากมายจนกระทั่งมาเจอสถานที่เที่ยวแห่งหนึ่งตรงกับเรื่องนี้อยู่พอดี ซึ่งสถานที่นั้นก็คือ “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” จังหวัดนนทบุรีนั่นเองค่ะ จะรอช้าอยู่ใย รีบไปทันทีเลยค่า 5555

การเดินทางมายัง ‘พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์’ จังหวัดนนทบุรีที่สะดวกที่สุดคือ “เรือด่วนเจ้าพระยา” ซึ่งสามารถไปได้ทั้งธงแดง, ธงเขียวเหลือง, ธงเหลือง และธงส้ม ราคาค่าโดยสารก็จะแตกต่างกันตามสีธงแต่ละสี ได้แก่ ‘ธงแดง’ ราคา 30 บาทตลอดสาย, ‘ธงเขียวเหลือง’ ราคา 14 บาท (ปากเกร็ด-นนทบุรี) / ราคา 21 บาท (นนทบุรี-สาทร) / ราคา 33 บาท (ปากเกร็ด-สาทร), ‘ธงเหลือง’ ราคา 21 บาทตลอดสาย และ ‘ธงส้ม’ ราคา 16 บาทตลอดสาย สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเส้นทางเดินเรือและราคาค่าโดยสารได้ที่ ‘เว็บไซต์เรือด่วนเจ้าพระยา’ ได้ นอกจากนั้นยังมีเรือไฟฟ้าสาย Urban Line เส้นทางท่าเรือสาทร-ท่าเรือพระนั่งเกล้า ราคา 30 บาท สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเส้นทางเดินเรือและราคาค่าโดยสารได้ที่ ‘ไทย สมายล์ โบ้ท’ ค่ะ

เมื่อเดินทางมาถึงท่าเรือนนทบุรี หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ท่าน้ำนนท์’ ก็ถ่ายรูป ‘เรือนเจ้าพระยา’ อาคารสีขาวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าน้ำนนท์ก่อนเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ แต่ด้วยความที่มาครั้งแรกและเดินหาจนหลงทางเลยตัดสินใจว่านั่งรถมอเตอร์ไซค์ดีกว่าค่ะ 5555 ซึ่งพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ตั้งอยู่ข้างกรมราชทัณฑ์ หรือเยื้อง ๆ กับเรือนจำบางขวางนั่นเอง

พอนั่งรถมอเตอร์ไซค์มาถึง ‘พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์’ ก็เดินชมบรรยากาศโดยรอบ รวมถึงชม ‘คุกขี้ไก่ (จำลอง) ร.ศ.๑๑๒’ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารจัดแสดง ซึ่ง ‘คุกขี้ไก่’ หรือ ‘ป้อมฝรั่งเศส’ เป็นคุกโบราณของฝรั่งเศสที่ได้เข้ามายึดครองจังหวัดจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ.2436 เพื่อใช้กักขังนักโทษชาวไทยที่ได้ต่อต้านฝรั่งเศส แต่ไม่เคยได้ใช้งาน โดยคุกขี้ไก่มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจุตรัส ขนาดกว้าง 4 เมตร สูง 10 เมตร ชั้นบนเป็นที่เลี้ยงไก่สำหรับถ่ายมูลใส่ศีรษะของนักโทษที่อยู่ด้านล่าง ปัจจุบันคุกขี้ไก่ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลปากแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีค่ะ

พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์มีอาคารทั้งหมด 3 หลังที่จัดแสดงเรื่องราวแตกต่างกันได้แก่ ‘อาคารหลังแรก’ จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับราชทัณฑ์และประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์, ‘อาคารหลังที่สอง’ ชั้นล่างเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติการลงทัณฑ์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งเครื่องพันธนาการ/เครื่องมือการลงทัณฑ์ในอดีตและจำลองการประหารชีวิต ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับวิวัฒนาการการคุกการตะราง, กิจวัตรประจำวันและชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษ, การฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขัง, การแต่งกายของข้าราชการราชทัณฑ์ และ ‘อาคารที่สาม’ หรือ ‘อาคารหับเผย’ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้นด้วยกันคือ ชั้น 1 เป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ด้วยฝีมือผู้ต้องขังภายใต้แบรนด์ ‘หับเผย’ ตามแนวคิด/สโลแกนที่ว่า “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” และชั้น 2 เป็นร้าน ‘หับเผย คาเฟ่’ จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ พร้อมการแสดงดนตรีจากผู้ต้องขังค่ะ

หลังจากชมบรรยากาศโดยรอบและคุกขี้ไก่ (จำลอง) ร.ศ.๑๑๒ แล้วก็เดินเข้าไปภายในอาคารจัดแสดงหลังแรก แต่ก่อนเข้าชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ต้องลงทะเบียนเข้าชมที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์บริเวณด้านข้างประตูทางเข้า พอลงทะเบียนเสร็จแล้วก็เดินชมบอร์ดป้ายความรู้ที่จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการราชทัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการราชทัณฑ์กับจังหวัดนนทบุรี, กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ และ ‘คุกมีไว้ทำไม’ คำถามที่ต้องค้นหาคำตอบค่ะ

พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2482 ตามแนวคิดของ ‘พ.อ.ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีธนากร)’ ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในสมัยนั้นได้รวบรวมวัตถุเกี่ยวกับการลงโทษและวัตถุโบราณจากเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศมาจัดแสดงที่เรือนจำกลางบางขวาง จากนั้นในปี พ.ศ.2542 ได้ย้ายไปจัดแสดงที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือคุกเก่าภายในสวนรมณีนาถ แล้วปิดทำการไปนานกว่า 8 ปี และย้ายที่ทำการมาที่สถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ประชาชนเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ค่ะ

นอกจากอาคารหลังแรกจัดแสดงบอร์ดป้ายความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์แล้วยังจำลองห้องขัง, กลองใช้ตีบอกเวลาช่วงกลางคืนในเรือนจำสมัย ร.ศ.๑๒๖ และกลองโบราณที่ขุดพบในปี พ.ศ.2521 ระหว่างก่อสร้างที่ทำการเรือนจำจังหวัดกำแพงเพชรค่ะ

ชมนิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับราชทัณฑ์และประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ในอาคารหลังแรกแล้วก็เดินทะลุผ่านตามทางเดินที่มีรั้วเหล็กกั้นเป็นซี่ ๆ จำลองบรรยากาศเรือนจำได้เสมือนจริงไปยังอาคารหลังที่สอง ซึ่งชั้นล่างของอาคารหลังนี้จัดแสดงนิทรรศการ ‘การลงทัณฑ์กับกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน’ ที่จำลองการลงทัณฑ์ของผู้ต้องขังในแบบต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทัณฑ์ด้วยขื่อ, ตะโหงก, กลังหรือคลัง, สมอบก, ตะกร้อ, คาไม้ไผ่, เบ็ดเหล็ก, ฆ้อนตอกเล็บ และหีบทรมานค่ะ

การลงทัณฑ์ด้วย ‘ขื่อ’ – ผู้ถูกลงโทษนั่งตรึงอยู่กับพื้นหันหน้าเข้าหาขื่อ ข้อมือและข้อเท้าของผู้ถูกลงโทษจะถูกตรวนพันธนาการไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการหลบหนี

การลงทัณฑ์ด้วย ‘ตะโหงก’ – ทำด้วยไม้หรือลักษณะคล้ายขื่อ แตกต่างกันที่สวมที่คอและยาวกว่าขื่อราว 3 เท่า พอจะเดินไปไหนได้ในที่ไม่ต้องห้ามและอยู่ในคุก ใช้มือทำงานได้แต่หลบหนียากเพราะเกะกะ มักใช้กับนักโทษที่มีโทษหนักหรือผู้ร้ายสำคัญที่ถูกส่งไปยังที่คุมขัง เพื่อป้องกันการหลบหนีระหว่างทาง เริ่มใช้ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในกฎหมายตราสามดวง (พระธรรมนูญ) และเลิกใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การลงทัณฑ์ด้วย ‘กลังหรือคลัง’ – มีลักษณะเป็นไม้กระบอก (ไม้ไผ่) ที่ร้อยเชือกหรือเชือกเข้ากลางกระบอกให้โซ่หรือเชือกโผล่ออกทางปลาย 2 ข้างทางกระบอก ซึ่งการใช้กลังหรือคลังนั้นเป็นเครื่องพันธนาการผู้ต้องพระราชอาญา เริ่มใช้ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในกฎหมายตราสามดวง (พระธรรมนูญ) และเลิกใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การลงทัณฑ์ด้วย ‘สมอบก’ – ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง น้ำหนักมาก ปลายโซ่มีวงแหวนวงเดียวไว้สวมข้อเท้าคนโทษที่ทำผิดวินัยในคุกหรือผู้มีนิสัยดื้อด้าน ซึ่งนักโทษผู้ถูกใส่สมอบกต้องตากแดด ตากลม อยู่กับที่ ถ้าจะเคลื่อนไหวก็ต้องยกขอนไม้แก่นอันหนักติดตัวไปด้วย

การลงทัณฑ์ด้วย ‘ตะกร้อ’ – ทำด้วยหวายขนาดใหญ่พอใส่คนเข้าไปอยู่ได้หลวม ๆ มีเหล็กปลายแหลมโผล่ด้านในเป็นระยะ ๆ เมื่อผู้ต้องโทษถูกจับเข้าไปนั่งในตะกร้อแล้ว ให้ช้างเตะตะกร้อให้กลิ้งไปมา ผู้ต้องโทษจะรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกเหล็กแหลมตำ ซึ่งตะกร้อใบนี้ได้มาจากเรือนจำกลางนครราชสีมา

การลงทัณฑ์ด้วย ‘คาไม้ไผ่’ – เป็นเครื่องพันธนาการชนิดสวมคอ มีความยาวประมาณ 3 เมตร เป็นไม้สลักสองท่อนขนาบคอพอดี ตรงกึ่งกลางติดสลักไม้เนื้อแข็ง 2 อัน ขนาดสวมคอนักโทษได้ไม่หลุด มีไว้ใส่คอคนร้ายที่จับตัวได้ และนำเดินทางด้วยเท้ามาพิจารณาคดีจากเมืองหนึ่งมาอีกเมืองหนึ่ง หรือจากที่เกิดเหตุมาพิจารณาคดีในเมือง ส่วนมากมักเป็นคดีเล็กน้อย เช่น ลักทรัพย์ เป็นต้น

การลงทัณฑ์ด้วย ‘เบ็ดเหล็ก’ – ใช้เพื่อลงทัณฑ์ผู้ต้องโทษ โดยเกี่ยวเบ็ดเหล็กเข้าไปใต้คางของผู้ต้องโทษ แล้วชักรอกให้เท้าลอยพ้นพื้นดิน ไม่ให้คางหลุดจากเบ็ดเหล็ก

การลงทัณฑ์ด้วย ‘ฆ้อนตอกเล็บ’ – ทำด้วยไม้แก่น ปลายไม้ข้างแหลมจะใส่เข้าไประหว่างเล็บและเนื้อแล้วใช้ฆ้อนตอกไม้ปลายแหลมเข้าไปในเล็บ

การลงทัณฑ์ด้วย ‘หีบทรมาน’ – เป็นกล่องไม้ขนาดพอดีกับตัวคนไม่ให้เคลื่อนไหวอิริยาบถ ฝาไม้ถูกตอกจนแน่นสนิท มีรูเจาะไว้ให้พอหายใจได้เท่านั้น อาจวางนอนหรือวางยืนไว้กลางแดด เป็นการทรมานให้สารภาพ

ชมโซนจำลองการลงทัณฑ์ของผู้ต้องขังในรูปแบบต่าง ๆ แล้วก็เป็นโซนการจำลองการประหารชีวิตแต่ละแบบที่มีทั้งการประหารชีวิตด้วยดาบ หรือ ‘การกุดหัว’, การประหารชีวิตด้วยปืน และการประหารชีวิตด้วยการฉีดยา ซึ่งการประหารชีวิตแต่ละแบบจะมีป้ายแสดงความรู้เกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนการประหารชีวิตค่ะ

การประหารชีวิตด้วยดาบ หรือ ‘การกุดหัว’ เป็นการลงโทษประหารชีวิตในสมัยโบราณด้วยการใช้ดาบฟันคอนักโทษให้ขาด ซึ่งดาบที่ใช้ในการประหารชีวิตมีรูปร่างต่าง ๆ กัน คือมีทั้งดาบปลายแหลม, ดาบปลายตัด และดาบหัวปลาไหล ทั้งนี้ครูเพชฌฆาตเป็นผู้จัดทำดาบขึ้นและเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้เพชฌฆาตใช้ดาบชนิดใดประหารชีวิตนักโทษ โดยเพชฌฆาตผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตมี 3 คน คือดาบที่หนึ่ง และตัวสำรองอีก 2 คนเรียกว่าดาบสองและดาบสาม หากดาบหนึ่งฟันคอไม่ขาด ดาบสองจะต้องซ้ำ แต่ถ้ายังไม่ขาด ดาบสามก็ต้องเชือดให้ขาดค่ะ

เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการประหารชีวิตด้วยดาบได้แก่ ‘คบเพลิงส่องทาง’ ใช้สำหรับส่องให้แสงสว่างขณะที่นำตัวนักโทษเดินทางทางเรือพายไปประหารชีวิตที่วัดให้ทันเวลาย่ำรุ่งประมาณ 03.00 น., ‘ขันทำน้ำมนต์’ ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นภาชนะสำหรับเพชฌฆาตทำน้ำมนต์ก่อน-หลังพิธีตัดคอนักโทษ และใช้น้ำมนต์ในขัน เพื่อปัดรังควานและอาบหรือพรมตามร่างกาย เป็นการป้องกันวิญญาณร้ายเข้าสิงร่างกาย, ‘มีดตัดสายมงคล’ หรือ ‘มีดหมอ’ ใช้สำหรับตัดสายมงคลที่ล้อมลานพิธีประหาร จะใช้มีดชนิดอื่นตัดสายสิญจน์หรือสายมงคลในพิธีไม่ได้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับพิธีทางไสยศาสตร์, ‘มีดตัดส้นเท้า’ ใช้สำหรับสับส้นเท้าของนักโทษเพื่อถอดตรวนข้อเท้าออกหลังจากถูกประหารชีวิตแล้ว ต่อมาได้ถูกยกเลิกในปี ร.ศ.131 เนื่องจากมีตรวนข้อเท้าที่สามารถไขได้ด้วยกุญแจ, ‘เครื่องเซ่นสังเวย’ ใช้สำหรับประกอบพิธีบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินและภูตผีต่าง ๆ ก่อนประหารชีวิตค่ะ

การประหารชีวิตด้วยปืน เป็นการลงโทษประหารชีวิตด้วยการยิงปืน ซึ่งปืนกลมือที่ใช้ในการประหารชีวิตครั้งแรกเป็นปืนกลมือแบล็คมันต์ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นปืนกลแบบเอชเค โดยวิธีการประหารชีวิตด้วยปืนคือหลังจากนำนักโทษมามัดตัวเข้ากับหลักประหารด้วยด้ายดิบในลักษณะยืนประนมมือกำดอกไม้ธูปเทียนหันหน้าเข้ากับหลักประหารแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำฉากประหารที่มีเป้าวงกลมติดอยู่กับฉากตั้งเล็งให้ตรงจุดกลางหัวใจนักโทษ ห่างจากด้านหลังของนักโทษประมาณ 1 ฟุต เพื่อกำบังไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้ลั่นไกปืนเห็นตัวนักโทษ และแท่นปืนประหารตั้งอยู่ห่างจากฉากประหารประมาณ 4 เมตร เมื่อพร้อมแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะให้สัญญาณด้วยการโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาตจึงลั่นไกปืนยิงนักโทษให้เสียชีวิต ต่อมาการประหารชีวิตด้วยปืนถูกยกเลิกในปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมาค่ะ

รูปบนนี้เป็นเสื้อเครื่องแบบของ ‘นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์’ เพชฌฆาตผู้ประหารชีวิตด้วยปืนคนสุดท้ายค่ะ

การประหารชีวิตด้วยการฉีดยา เป็นการลงโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกายของนักโทษให้ถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าเป็นการประหารชีวิตที่ทำให้นักโทษทรมานน้อยที่สุด ซึ่งวิธีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาคือการนำตัวนักโทษมานอนบนเตียงประหารและใช้เข็มขัดรัดตัวนักโทษเข้ากับเตียงให้แน่นแล้วจึงต่อสายน้ำเกลือที่หลังมือนักโทษเพื่อปล่อยน้ำเกลือที่ยังไม่มีสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดก่อนปิดทางเดินน้ำเกลือแล้วดำเนินการฉีดสารพิษ 3 ชนิดเข้าไปในสายน้ำเกลือ ได้แก่ ‘สารโซเดียมเพนโททัล ชนิดผงละลายน้ำ’ ปริมาณ 20 - 25 ซีซี เพื่อให้หลับลึก ไม่รู้สึกตัว, ‘สารแพนคูโรเนียมโบรไมด์ ชนิดน้ำ’ ปริมาณ 50 ซีซี เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวและระบบการหายใจหยุดทำงาน และ ‘สารโพแทสเซียมคลอไรด์ ชนิดน้ำ’ ปริมาณ 50 ซีซี เพื่อให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตค่ะ

ถัดมาก็จะเป็นเครื่องพันธนาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหวาย, ไม้บีบขมับ, ไม้ขาหย่าง, ไม้เสาหลักกลม, เหล็กร้อย, เหล็กครอบสะเอว, กุญแจมือ และตรวนชนิดต่าง ๆ ค่ะ

ส่วนมุมที่อยู่ข้างบันไดขึ้นสู่ชั้นบนเป็นมุมจัดแสดงดาบประหารเมื่อครั้งที่มีการประหารชีวิตด้วยดาบ ซึ่งเป็นดาบโบราณ ที่มีทั้งดาบปลายแหลม, ดาบหัวตัด และดาบหัวปลาไหล รวมถึงยังมีดาบประหารของ ‘นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง’ เพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทย โดยมีภาพวาดนายเหรียญติดอยู่บนผนังค่ะ

หลังจากชมนิทรรศการชั้นล่างแล้วก็เดินขึ้นบันไดไปชมชั้นบนที่เป็น ‘ยุคสมัยของการปฏิรูป’ ซึ่งจัดแสดงเรื่องราววิวัฒนาการการคุก การตะราง, กิจวัตรประจำวันและชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษ, การฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขัง, การแต่งกายของข้าราชการราชทัณฑ์ และโครงการในพระราชดำริฯ ยุคปัจจุบันค่ะ

เดินขึ้นบันไดไปยังชั้น 2 ก็จะเป็นมุมจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘การคุก การตะราง กับกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน’ ซึ่งเป็นบอร์ดป้ายความรู้แสดงถึงวิวัฒนาการการคุก การตะรางของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา, สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๙ นอกจากนั้นในตู้กระจกยังจัดแสดงลายพระราชหัตถเลขาในหมายปล่อยตัวนักโทษของรัชกาลที่ ๕, รัชกาลที่ ๖, รัชกาลที่ ๙ และรัชกาลปัจจุบันที่หาชมได้ยากค่ะ

ส่วนมุมนี้เป็นมุมจัดแสดงป้ายความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งเจ้าหน้าที่คุก ตะรางในสมัยรัตนโกสินทร์ และข้างหน้าป้ายความรู้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ใช้ในเรือนจำ เช่น ตู้กุญแจ, เครื่องคิดเลข, โทรศัพท์, กำปั่น, เครื่องอัดผ้า, เตารีด, กาน้ำชา และเครื่องพิมพ์ดีดค่ะ

ภาพบนที่เห็นอยู่นี้เป็น ‘ประตูหับเผย’ แบบจำลอง ซึ่งประตูหับเผยเป็นประตูระหว่างทางเข้าเรือนจำไปสู่คุก มีการเปิด-ปิดเป็นเวลา เช่น ตอนเช้าเปิดให้เดินผ่าน เรียกว่า ‘เผย’ และตอนเย็นปิด เรียกว่า ‘หับ’ ถ้าปิดหับเผยแล้ว ใคร ๆ ก็เดินผ่านไม่ได้ค่ะ

เมื่อเดินผ่าน ‘ประตูหับเผย’ แบบจำลองแล้ว ด้านในแบ่งเป็นหลายโซนด้วยกัน เช่น โซนกิจวัตรประจำวัน-ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษ, โซนจัดแสดงเครื่องหมาย-เครื่องแบบข้าราชการราชทัณฑ์ในยุคต่าง ๆ, โซนจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณ, โซนภาพเรือนจำต่างจังหวัดในอดีตและจัดแสดงตรวนชนิดต่าง ๆ-อาวุธปืนโบราณ และโซนโครงการในพระราชดำริฯ ยุคปัจจุบันค่ะ

โซนกิจวัตรประจำวัน-ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษ เป็นการจำลองบรรยากาศและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในเรือนจำ เช่น ห้องขัง, ช่องลม, โครงกระดูก, เครื่องโม่โบราณ, ฆ้อง, ภาชนะใส่อาหารของผู้ต้องขัง, ท่อส่งน้ำโบราณ, กระทะหุงต้มอาหาร, ครกไม้โบราณ, แผนผังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และตัวอย่างตะกร้าหวายที่เป็นผลงานการฝึกวิชาชีพของนักโทษ

‘ช่องลม’ เป็นช่องระบายอากาศชั้นบนของตึกนอน 1 และ 2 เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก อยู่ระหว่างหัวตึก ท้ายตึก และตรงกลางตัวตึกนอน ลมผ่านได้ 2 ทาง

‘โครงกระดูก’ ที่เห็นอยู่นี้เป็นโครงกระดูกจริงของนักโทษชายที่อุทิศร่างกายให้สถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2480 เพื่อการศึกษา ค้นคว้าด้านการแพทย์ราชทัณฑ์ค่ะ

สามภาพบนที่เห็นอยู่นี้เป็นเครื่องโม่โบราณ, ฆ้อง, ภาชนะใส่อาหารของผู้ต้องขัง, ท่อส่งน้ำโบราณ, กระทะหุงต้มอาหารที่ใช้สำหรับหุงข้าวกับประกอบอาหารให้ผู้ต้องขัง ซึ่งกระทะหนึ่งจะหุงข้าวได้ 1 กระสอบ ใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง 400 คน และครกไม้โบราณค่ะ

แผนผังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นรูปแบบเรือนจำในอดีต ซึ่งออกแบบโดยพระยาอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง (เนียม) เจ้ากรมกองตระเวนที่ไปดูแบบอย่างคุกและโรงพยาบาลในเมืองสิงคโปร์ และมิสเตอร์แกรซีนี นายห้างชนชาติอังกฤษเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยแผนผังเรือนจำนี้เป็นการจำลองอาคารต่าง ๆ ภายในเรือนจำ เช่น ตึกนอน, แดน 5-9, แดนเกษตร, สถานพยาบาล, ร้านค้าสงเคราะห์ผู้ต้องขัง, ห้องเยี่ยมญาติ, ร้านค้าผลิตภัณฑ์และบ้านพักเจ้าพนักงาน เป็นต้น

ตะกร้าหวายที่เห็นอยู่นี้เป็นผลงานการฝึกวิชาชีพของนักโทษ มีรูปทรงต่าง ๆ แตกต่างกัน เช่น แบบทรงกลมมีฝาปิด, แบบทรงรี, แบบตะกร้ามีหูหิ้ว เป็นต้น เรียงกันเป็นแนวยาว นอกจากนั้นยังมีกระเป๋าสานหวายที่จัดแสดงในตู้กระจกค่ะ

โซนจัดแสดงเครื่องหมาย-เครื่องแบบข้าราชการราชทัณฑ์ในยุคต่าง ๆ เป็นการจำลองหุ่นที่สวมเครื่องแต่งกายของเจ้าพนักงานเรือนจำในอดีต ได้แก่ เครื่องแต่งกายผู้คุม พ.ศ.2434, เครื่องแต่งกายผู้คุม พ.ศ.2480 และเครื่องแต่งกายเจ้าพนักงานเรือนจำหรือทัณฑสถาน พ.ศ.2504 ซึ่งเครื่องแต่งกายของผู้คุมหรือเจ้าพนักงานเรือนจำในอดีตจะแตกต่างไปตามยุคสมัยค่ะ

โซนจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณ เป็นการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้โบราณที่ใช้งานได้จริงในสมัยนั้น ๆ โดยจัดแสดงในตู้กระจก ได้แก่ ไม้คทา, กล้องโบราณ, ปืนพกลูกโม่, สมุดรายวันรับราชการ, หมวกกะโล่, อาวุธผู้ต้องขัง, บัญชีผู้ต้องขังหลบหนี, อุปกรณ์การหลบหนี และอุปกรณ์การพนัน นอกจากนั้นยังมีภาพหนังสือพิมพ์ในอดีตและหนังสือเรื่องที่เกี่ยวกับการราชทัณฑ์จัดแสดงอีกด้วยค่ะ

โซนภาพเรือนจำต่างจังหวัดในอดีตและจัดแสดงตรวนชนิดต่าง ๆ-อาวุธปืนโบราณ เป็นการจัดแสดงภาพถ่ายเรือนจำตามต่างจังหวัดในอดีต เช่น จังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน, เพชรบุรี, สระบุรี, ลพบุรี เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีตรวนชนิดต่าง ๆ และตัวอย่างปืนใหญ่กับอาวุธปืนโบราณผู้คุมในอดีตจัดแสดงอีกด้วยค่ะ ซึ่งอาวุธปืนโบราณนั้น ได้แก่ ปืนเล็กยาวคาบศิลา, ปืนพกคาบศิลา, ปืนเล็กยาว, ปืนพกลูกโม่, ปืนยาวลูกโม่คาบศิลา, ปืนเล็กยาวแบบคานเหวี่ยง, ปืนกลมือ M3 และปืนกลมือ MAB 38 เป็นต้น

และสุดท้ายโซนโครงการในพระราชดำริฯ ยุคปัจจุบัน เป็นโซนจัดแสดงป้ายความรู้เกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริฯ ต่าง ๆ มากมายที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความหวัง-กำลังใจ, การฝึกวิชาชีพ รวมถึงการได้รับโอกาสจากสังคมไทยในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ภายหลังพ้นโทษ เช่น โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์, โครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์, โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญา, โครงการกำลังใจ เป็นต้น

หลังจากชมนิทรรศการชั้น 2 ครบทุกโซนจนทั่วแล้วก็เดินลงบันไดมาที่ชั้น 1 เพื่อไปยังอาคารที่ 3 แต่ก่อนจะเปิดประตูออกไปก็เห็นซอกมุมเล็ก ๆ จัดแสดงป้ายความรู้เกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของกรมราชทัณฑ์ เช่น เรือนจำ เรือนกีฬา, จังหวะชีวิต, ขาดอิสรภาพในเรือนจำ แต่ไม่ขาดอิสรภาพทางการศึกษา, เรือนจำ เรือนธรรม และประติมากรรม สร้างงาน สร้างจิตใจ เป็นต้น

ระหว่างทางไปยังอาคารที่ 3 ก็จะมีมุม ‘ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส’ สำหรับเขียนให้กำลังใจผู้ต้องขังหรือนักโทษในเรือนจำบนกระดาษโพสท์อิทแปะไว้บนกระดานที่ติดไว้บนผนังค่ะ

เดินมาถึงอาคารที่ 3 หรือ ‘อาคารหับเผย’ แล้ว เราก็เดินเข้าไปในร้าน ‘หับเผย’ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ ด้วยฝีมือของผู้ต้องขังจากการฝึกวิชาชีพตามราชทัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่มีให้เลือกมากมาย เช่น กระเป๋า, หมวก, ย่าม, ผ้าพันคอ, รองเท้าปัก, ตะกร้า, งานไม้, งานจักสาน, ดอกไม้ประดิษฐ์ และผลงานอื่น ๆ ที่สวยงามในราคาย่อมเยา โดย 70% ของรายได้จากการขายสินค้าจะเป็นของผู้ต้องขังทั้งหมดค่ะ

หลังจากชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์และเลือกชม เลือกซื้อสินค้า/ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ภายในร้าน ‘หับเผย’ แล้วก็รู้สึกหิวจึงเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 ที่เป็นร้าน ‘หับเผย คาเฟ่’ ซึ่งจำหน่ายทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเบเกอรี่ในราคาไม่แพง พร้อมทั้งชมการแสดงดนตรีจากผู้ต้องขัง ก่อนเดินทางกลับค่ะ

สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหรือนักโทษในเรือนจำล่ะก็... ลองแวะเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรีกันได้นะคะ รับรองว่านอกจากจะได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินจากเดินชมแล้ว ยังเปลี่ยนมุมมองที่มีต่องานราชทัณฑ์และผู้ต้องขังในเรือนจำอีกด้วยว่าเรือนจำไม่ใช่สถานที่คุมขังเพื่อลงโทษเพียงเท่านั้น หากเป็นพื้นที่แก้ไขและสร้างโอกาสให้เพื่อนมนุษย์ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ เพื่อคืนคนดีกลับสู่สังคมนั่นเองค่ะ

📍 ปักหมุดได้ที่: พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ 77/1 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์ ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

🚘 GPS: https://maps.app.goo.gl/2tM6xVHPxejjX7DH8

Email: [email protected]

📞 โทร. 02-526-9014, 065-291-0518

💸เสียค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าเข้าชม

🏡เปิด: วันอังคาร - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. ปิดทำการทุกวันจันทร์

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 19.53 น.

ความคิดเห็น