กัมพูชาเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องของการเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราสาทหินอันงดงามที่โด่งดังไปทั่วโลก ปราสาทหินต่างๆ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและความยิ่งใหญ่ของอารายธรรมเขมรในอดีต ปัจจุบันมีโบราณสถาน 4 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยนครวัด ศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2535 ปราสาทพระวิหาร ปราสาทที่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงของเทือกเขาพนมกุเลน ติดกับชายแดนไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2551 ปราสาทสมโบร์ไพรกุก วัดในป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งอาณาจักรโบราณเจนละ ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2560 และปราสาทเกาะแกร์ ที่รวมถึงแหล่งโบราณคดีและศาสนสถานเก่าแก่อีกหลายแห่งในเขตเมืองเก่า ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2566

รีวิวนี้ ผมจะพาเพื่อนๆ ไปชมโบราณสถานที่สำคัญของกัมพูชากันครับ โดยขอเริ่มที่ปราสาทสมโบร์ไพรกุก ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดและรากฐานอารยธรรมของชาวขแมร์ ทั้งทางด้านศาสนา สถาปัตยกรรมและวิถีชีวิต สร้างขึ้นมาแล้วกว่า 1,390 ปีโดยพระเจ้าอีศานวรมัน ได้ก่อสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศาสนสถาน

ปราสาทสมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk) ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกัมปงธม อยู่ห่างจากเสียมเรียบ ราวๆ 176 กม. คำว่า “สมโบร์ไพรกุก” มาจากภาษาเขมร “ซ็อมโบร์ไพร” หมายถึง ป่าอันอุดมสมบูรณ์ และคำว่า “กุกห์” หมายถึง ศาสนสถาน หรืออาศรม หรือปราสาท สมโบร์ไพรกุก จึงมีความหมายโดยรวมว่า ปราสาทในป่าทึบ ปราสาทสมโบร์ไพรกุกครอบคลุมพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร ยูเนสโกระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นอาณาเขตของเมืองอิศานปุระ เมืองหลวงของอาณาจักเจนละ ซึ่งเป็นยุคที่อารยธรรมขอมเจริญรุ่งเรืองในช่วงปลายศตวรรษที่ 6 และ 7 ปราสาทสมโบร์ไพรกุกจะแบ่งพื้นที่เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่ม S (South) คือกลุ่มปราสาทด้านทิศใต้ เรียกว่ากลุ่มปราสาทยายปวน, กลุ่ม N (North) คือกลุ่มปราสาทด้านทิศเหนือ เรียกว่า กลุ่มปราสาท สมโบร์ และกลุ่ม C (Central) คือกลุ่มปราสาทที่อยู่ตรงกลาง เรียกว่า กลุ่มปราสาทเตา หรือปราสาทสิงโต เมื่อรวมปราสาททั้ง 3 กลุ่มแล้ว จะมีประมาณ 293 ปราสาท แต่ส่วนมากปราสาทจะพังทลาย เหลือเพียง 84 แห่งที่ยังสามารถเที่ยวชมได้ โดยแต่ละปราสาทจะมีชื่อขึ้นต้นว่า N,S และ C แล้วจะตามด้วยตัวเลขที่แสดงถึงความสำคัญ หรือตามลำดับการเรียงตัวที่ตั้งของปราสาท เช่น N1 หมายถึงปราสาทประธานของกลุ่มเหนือ S1 หมายถึงปราสาทประธานของกลุ่มใต้ คือปราสาทยายปวน และ C1 หมายถึงปราสาทประธานของกลุ่มกลาง คือปราสาทตาว ปราสาททั้ง 3 กลุ่ม ไม่ได้สร้างเสร็จในรัชกาลเดียวกันนะครับ บางปราสาทเริ่มต้นไว้ แล้วมีกษัตริย์พระองค์อื่นในสมัยหลังมาสร้างและต่อเติมจนเสร็จสมบูรณ์

ผมขอเริ่มพาชมที่กลุ่ม N หรือกลุ่มปราสาทสมโบร์ ซึ่งอยู่เหนือสุด เป็นกลุ่มที่สร้างก่อนกลุ่ม S และ C กลุ่ม N มีปราสาทมากที่สุดถึง 51 ปราสาท แต่ปัจจุบันเหลือพอให้ได้ชมเพียง 16 ปราสาท ภายในกลุ่มปราสาท N ยังแบ่งออกเป็นอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านใน หรือกลุ่มปราสาทสมโบร์ ซึ่งมีการจัดวางแผนผังอยู่ในกำแพง กับกลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านนอก ซึ่งประกอบด้วยปราสาทเดี่ยว ขนาดกลาง และขนาดเล็ก กระจัดกระจายกันอยู่

ขอเริ่มที่กลุ่มปราสาทสมโบร์ซึ่งตั้งอยู่ภายในผังบริเวณที่มีแนวกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นปราสาทองค์ประธาน ก่อด้วยอิฐ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการย่อมุมค่อนข้างมากและชัดเจน ตัวปราสาทมีประตูเข้าได้ 4 ด้าน ผนังปราสาทหนามากๆ กะด้วยสายตาประมาณ 1.50 เมตร การที่ผนังต้องมีความหนามากๆ ก็เพื่อรับน้ำหนักของส่วนบนของปราสาท อิฐที่ใช้ บางตำนานบอกว่าเป็นอิฐที่มีกรรมวิธีเดียวกับอิฐทวารวดี ที่ใช้ในการสร้างพระปฐมเจดีย์ครับ ด้านนอกผนังมีการแกะสลักเป็นลวดลายที่สวยงาม การสลักนี้เป็นการสลักบนอิฐ ซึ่งแตกต่างจากการแกะสลักยุคนครวัดที่จะสลักบนหินทราย

ด้านในปราสาทประธานเป็นที่ตั้งของฐานโยนีขนาดใหญ่ ในใจผมตอนนี้ก็พาลจินตนาการไปถึงศิวลึงค์ ซึ่งจะต้องมีขนาดใหญ่พอๆ กับฐานโยนีที่ตั้งอยู่เบื้องหน้านี้ การสร้างศิวลึงค์และฐานโยนีแสดงถึงความสมบูรณ์ แสดงถึงความมีชีวิต

ส่วนโดยรอบของปราสาทประธาน จะเป็นปราสาทบริวาร โครงสร้างปราสาทมีทั้งแบบทรงสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ภายในปราสาทบางหลังยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ อย่างพระนารายณ์สี่กรครับ

ภายในปราสาทบริวารหลังนี้มีรูปเคารพพระอุมาเทวีปางทุรคามหิษาสุรมรรทินี หรือปางปราบอสูรควาย เสียดายที่เศียรโดนขโมยไปเสียแล้ว

ที่ผนังด้านนอกของปราสาทบางหลังจะพบเห็นภาพสลักอิฐเป็นภาพวิมานหรือปราสาทลอย ยอดบนของวิมานจะมีซุ้มกุฑุที่มีรูปบุคคลอยู่ภายในซุ้ม ซึ่งเป็นลักษณะที่ถอดแบบมาจากศิลปะอินเดียครับ

ส่วนกลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านนอก เป็นกลุ่มปราสาทขนาดเล็ก กระจายอยู่ทางเหนือของกลุ่มปราสาทสมโบร์อยู่หลายหลังและหลายรูปแบบ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าปราสาทในกลุ่มนี้มีบางปราสาทที่น่าจะสร้างขึ้นมาในยุคฟูนันเรืองอำนาจ ก่อนที่พระเจ้าอิศานวรมันจะแผ่ขยายอำนาจเข้ามายึดครองและตั้งเมืองหลวงทับซ้อนพื้นที่เดิมที่เป็นนครพลทิตยปุระของกษัตริย์เชื้อสายฟูนัน โดยปราสาทมีแผนผังสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม นักโบราณคดีจัดไว้ให้เป็นยุคฝูหนาน ก่อนหน้าที่พระเจ้าอิศานวรมันจะสถาปนาราชธานีที่สมไบร์ไพรกุก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปราสาทสมโบร์มีปราสาทหลากหลายรูปแบบตามยุคสมัยการก่อสร้างที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงาม ในรูปแบบทั้งก่อนและหลังศิลปะแบบสมโพร์ไพรกุก

Prasat Kbal Chrouk N20 เป็นปราสาทอิฐหลังเล็กๆ ที่แทบมองไม่ออกแล้วว่ารูปร่างหน้าตาเดิมเป็นอย่างไร แต่ก็ยังพอจะเห็นรายละเอียดของภาพประติมากรรมที่ประดับอยู่บริเวณผนังของตัวปราสาทหลงเหลืออยู่บ้าง

ปราสาทเด็ม ชาน (Deum Chan N15) ยังค่อนข้างสมบูรณ์ มองเห็นรูปทรงที่ชัดเจน สร้างขึ้นจากอิฐ รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู มีแท่นบูชาหรือแท่นทำพิธีกรรมอยู่ด้านหน้าของปราสาท มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ประตูส่วนที่เหลือเป็นประตูหลอก แต่มีการสลักลวดลายเหมือนประตูที่จำหลักด้วยไม้ รอบๆ ฐานปราสาทสร้างเป็นฐานย่อมุม ประดับด้วยการจำหลักลายและก่ออิฐตามแบบศิลปะอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ผนังก่อด้วยอิฐ รูปร่างเป็นทรงสอบขึ้นไปด้านบน ที่มีช่องเปิดโล่ง ส่วนด้านในของปราสาทมีแท่นประดิษฐานเทพเจ้าครับ

อีกหนึ่งปราสาทที่ดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั่นคือปราสาทเจรย (Prasat Chrey N18) เจรย แปลว่า ไทร เป็นปราสาทขนาดเล็กทางด้านเหนือ ลักษณะเด่นของปราสาทหลังนี้คือเป็นปราสาทอิฐขนาดเล็กในผังสี่เหลี่ยมที่มีรากไม้ชอนไช หยั่งรากลงปกคลุมไปทั่วองค์ปราสาทครับ

จากกลุ่ม N ไปชมกลุ่ม S กันต่อครับ ในกลุ่ม S นี้ปราสาทหลักคือปราสาทยายปวน (Prasat Yeay Poan) ซึ่งเดิมเรียกว่า เนียกปวน (ปราสาทนาคพัน) มีหลักฐานจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 ราวปี พ.ศ.1159-1180 เพื่อถวายพระศิวะ ตัวปราสาทตั้งอยู่ภายในบริเวณที่มีแนวกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น ยาว 260 เมตร สูง 3 เมตร แนวกำแพงชั้นนอกทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันชำรุดพังทลายลงเกือบหมดแล้ว ยังคงเหลือเพียงกรอบประตูทางเข้า ส่วนกำแพงชั้นในทำด้วยอิฐ มีรูปสลักนูนสูงประดับอยู่ภายในกรอบวงกลม

ตัวปราสาทยายปวน มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งยังคงแสดงถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอินเดีย ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าเพียงประตูเดียว โดยเชื่อกันว่าบานประตูทำด้วยไม้ ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว ที่หน้าบันมีรูปนาคเหมือนชักนาคกวนเกษียรสมุทร และอีกสามด้านที่เหลือทำเป็นประตูหลอกที่สร้างจากหิน โดยประดับด้วยการสลักลวดลายเหมือนกับประตูไม้จริงๆ

เรือนธาตุรอบตัวปราสาทองค์ประธานมีแนวเสาติดผนังแบ่งผนังเป็นช่องกรอบ ภายในแต่ละช่องมีลวดลายประดับเป็นรูปวิมาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายซุ้มบุษบกหรือปราสาทขนาดเล็ก โดยมีหน้าบันหรือยอดเป็นวงโค้ง ลวดลายเป็นรูปวิมานลอย

ว่ากันว่าด้านในปราสาทเคยมีรูปเคารพที่จารึกบอกว่าเป็นรูปพระศิวะยิ้ม แต่ปัจจุบันภายในปราสาทยายปวน ไม่อนุญาตให้เข้าชมด้านใน เนื่องจากกำลังบูรณะครับ

กลุ่มปราสาทบริวารอีก 6 หลัง ตั้งอยู่โดยรอบปราสาทประธาน โดยแต่ละปราสาทมีผังเป็นรูปแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสถาปัตยกรรมแบบสมโบร์ไพรกุก ภายในปราสาทบางหลังยังเป็นที่ตั้งของฐานโยนีครับ

การที่ปราสาทเหล่านี้มีผังเป็นรูปแปดเหลี่ยม สื่อถึงทิศทั้งแปด ที่มีเทพเจ้าประจำทิศที่เรียกว่า “ทิกปาลกะ” พิทักษ์อยู่ โดยจะมีประตูให้เข้าถึงด้านในเพียงด้านเดียว

ผนังด้านนอกในส่วนเรือนธาตุของปราสาทบริวารแปดเหลี่ยมทุกหลัง ประดับด้วยภาพสลักวิมานลอย มีรูปบุคคลทั้งชาย หญิง และสัตว์อยู่ภายในวิมาน มีซุ้มกุฑุที่ผนังอิฐของปราสาท จัดเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะขอมแบบสมโบร์ไพรกุกที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในศิลปะขอมยุคอื่นๆ เลย และยังแสดงถึงรูปแบบทางวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียที่นิยมทำมาก่อนแล้ว

จากกลุ่ม S ไปชมกลุ่ม C หรือกลุ่มปราสาทตาว (Prasat Tao) กันต่อครับ

ปราสาทกลุ่ม C นี้สร้างอยู่ 2 ระยะ โดยกษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สร้างเพิ่มเติมเมื่อ ค.ศ. 802 ปราสาทตาวจะสร้างหลังกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกและกลุ่มปราสาทยายปวนเล็กน้อย เห็นได้ชัดจากทับหลังของปราสาทจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบลายพวงอุบะ อันเป็นรูปแบบที่เด่นชัดของทับหลังแบบไพรเกมง

ปราสาทสิงโตเป็นปราสาทอิฐขนาดใหญ่ ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความสูง 20 เมตร สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ มีบันไดเจ็ดขั้นและมีฐานรูปกลีบกุหลาบ ประตูทางเข้ามีเพียงด้านเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และมีประตูหลอกอีก 3 ประตู ประตูทั้ง 4 ด้านมีเสาเหลี่ยม เหนือประตูมีทับหลังเป็นแผ่นหินทั้ง 4 ประตู ช่วงที่ผมไปไม่สามารถเข้าไปชมด้านในได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการบูรณะ

คำว่า “ตาว” ในภาษาขแมร์แปลว่า สิงโต ซึ่งชื่อของปราสาทก็มาจากการพบรูปปั้นสิงโต 2 ตัวที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทนั่นเองครับ แต่...ณ วันนั้น บริเวณทางเข้ามีการขึงสแลนอยู่ ผมจึงขออนุญาตเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าไปชมสิงโตทั้ง 2 ตัวครับ

สิงโต 2 ตัวนี้เกิดจากการสลักจากหินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียวให้เป็นทั้งฐานที่ตั้งและตัวสิงโต ที่สำคัญสิงโต 2 ตัวนี้ไม่เหมือนสิงโตที่อยู่ตามปราสาทต่างๆ ของกัมพูชา เพราะสิงโตทั้งคู่มีขนแผงคอเป็นเกลียว ดูมีอำนาจ นั่นแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ต้องการแสดงอำนาจของพระองค์ ในเวลาที่ทรงมีพระประสงค์ที่จะปลดปล่อยประชาชนและดินแดนจากการปกครองของศรีวิชัย ต้องการคืนความสงบสุขให้กับประเทศชาติครับ

ปราสาทสิงโต เป็นปราสาทแห่งเดียวในกลุ่มปราสาทนี้ที่ได้รับการบูรณะขึ้นมา ส่วนปราสาทบริวารอื่นๆ พังทลายลงหมดแล้ว

ปราสาทสมโบร์ไพรกุกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะของยุคก่อนเมืองพระนคร มีขนาดไม่ใหญ่โตเหมือนปราสาทขอมในเสียมเรียบ รูปลักษณ์ภายนอกดูเรียบง่าย วัสดุหลักคืออิฐ ยกเว้นบางส่วนเช่น ทับหลัง และเสาประดับกรอบประตูจะสลักด้วยหินทราย ข้อดีของการสร้างปราสาทด้วยอิฐคือ สร้างได้เร็ว ไม่ต้องหาแหล่งหินทรายซึ่งอยู่ไกลและลำเลียงลำบาก แต่ก็จะมีข้อเสียอยู่ที่ความทนทานจะสู้หินทรายไม่ได้ แบบของตัวปราสาทจะก่อในผังแปดเหลี่ยม นิยมสลักลวดลายเป็นอาคารทรงวิมานอยู่บนผนังอิฐด้านนอกของปราสาท รวมถึงการประดับซุ้มกุฑุที่มีรูปบุคคลโผล่ออกมาครึ่งตัว ในซุ้มประดับอยู่ที่ผนังและชั้นเชิงของหลังคาปราสาท ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแปลกตาที่ไม่สามารถหาชมได้ที่ไหน นอกจากที่นี่

สำหรับใครที่ต้องการมาชมปราสาทสมโบร์ไพรกุก แนะนำให้ออกเดินทางจากเสียมเรียบกันแต่เช้านะครับ เพราะระยะทางค่อนข้างไกล ราวๆ 176 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 3 ชั่วโมง มาถึงช่วงสาย จะได้มีเวลาเที่ยวชมเยอะหน่อย เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างกว้าง จึงใช้เวลาเที่ยวชมค่อนข้างเยอะ ผมเองก็ยังชมได้ไม่มาก หลักๆ เลือกชมกลุ่มปราสาท N,S,C และมีปราสาทรอบนอกอีก 3 ปราสาท ใช้เวลาเที่ยวชมประมาณ 3 ชั่วโมง อีกอย่างอากาศค่อนข้างร้อน เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเที่ยวชมครับ สำหรับการเข้าชมปราสาทสมโบร์ไพรกุก มีค่าเข้าชมท่านละ 10$ ปิดขายบัตรเวลา 17.00 น.ครับ

ตอนขากลับเข้าเสียมเรียบ ผมแวะชมสะพานขอมโบราณที่กำปงกะเดย หรือเปรี๊ยะโทนบริดจ์ สะพานที่อายุเกือบ 1,000 ปี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อใช้ในการสัญจรข้ามแม่น้ำกำปงกะเดย สะพานมีความยาว 75 เมตร สูง 14 เมตร กว้าง 15 เมตร ตัวสะพานสร้างจากหินศิลาแลง ที่หัวและท้ายสะพาน มีนาคราช 9 เศียรขนาดใหญ่แผ่พังพาน จำหลักในแบบของศิลปะยุคเมืองพระนคร ดูสง่างาม น่าเกรงขาม ลำตัวของนาคราช ทอดยาวเป็นราวสะพาน ทำด้วยหินทรายสลัก ยาวตลอดสะพานทั้ง 2 ด้าน รวมหัวท้ายเป็นนาค 4 หัว ลวดลายยังค่อนข้างสมบูรณ์ มีหลักเขตเชิงสะพาน จำหลักเป็นรูปคล้ายทวารบาลในซุ้มโค้ง ตั้งเคียงข้างเศียรนาค ปัจจุบันยังคงเปิดให้เฉพาะรถเล็ก เช่น มอเตอร์ไซด์ จักรยาน ใช้สัญจรเท่านั้น ดูจากโครงสร้างสะพานแล้ว สะพานแห่งนี้คงจะมีอายุการใช้งานต่อไปได้อีกยาวนาน (หากไม่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเสียก่อน) เพราะโครงสร้างต่างๆ ของสะพาน เช่น ตอม่อสะพานเรียงติดกันเป็นช่องถี่ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง โดยใช้หินศิลาแลงก้อนสี่เหลี่ยมขนาด 1 เมตร หนาราว 1 ฟุต เรียงซ้อนกันเป็นตอม่อ และทำเป็นช่องๆ 11 ช่อง แบบซุ้มประตูปลายแหลม แต่ละช่องลึก 15 เมตร กว้าง 2-3 เมตร เป็นช่องให้น้ำไหลผ่าน นับว่าเป็นสะพานที่มีรากฐานแข็งแกร่งมาก ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านกาลเวลามาร่วมพันปี โดยไม่มีการทรุดตัวแต่อย่างใด

ไปต่อที่ปราสาทเกาะแกร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 น้องใหม่ล่าสุดของกัมพูชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เมื่อปี 2566 โดยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เกาะแกร์ มีความน่าสนใจในหลากหลายแง่มุม โดยนอกจากจะมีปราสาทขนาดใหญ่ที่มีอายุกว่า 1,000 ปีแล้ว เกาะแกร์ยังเป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานมาช้านาน และเป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรอีกด้วย

เกาะแกร์ เมืองโบราณเก่าแก่ก่อนเป็นเมืองหลวง ก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 จะย้ายเมืองหลวงมายังเกาะแกร์ ที่นี่เคยเป็นหมู่บ้านที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนแล้วราว 200 ปีโดยชื่อเดิมคือโชกะคยา หมายถึงเกาะแห่งเกียรติยศ ก่อนที่จะเรียกกันว่าเกาะแกร์ ซึ่งเป็นชื่อของต้นไม้ท้องถิ่นชนิดหนึ่งในเวลาต่อมา และในช่วงที่เมืองมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดมีประชากรอาศัยอยู่ถึงราว 10,000 คน และการสร้างปราสาทเกาะแกร์ที่มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธานจึงทำให้เมืองนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าลิงคปุระ

เกาะแกร์เป็นเมืองหลวงเพียงแค่ 16 ปี หลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ขึ้นครองราชย์ได้ 13 ปี ราชบัลลังก์ก็สืบทอดต่อไปยังพระราชโอรส ชึ้นครองราชย์ในนามพระเจ้าหรรษวรมันที่ 2 แต่ทรงอยู่ในอำนาจได้เพียง 3 ปีเท่านั้นก็สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เกิดการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่สู่พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 1 และโปรดให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปยังพระนครตามเดิม ทำให้เกาะแกร์เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่สองรัชกาลเท่านั้น

เกาะแกร์ อยู่ในจังหวัดพระวิหาร อยู่ห่างจากเสียมเรียบประมาณ 120 กม. ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 81 ตารางกิโลเมตร ระหว่างเทือกเขาพนมด็องเร็ค และเทือกเขากุเลน (Dangrek and Kulen mountains) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติพนมกุเลน ในเกาะแกร์มีซากทางโบราณคดีกว่า 180 แห่ง แต่ถ้าจะถามหาพระเอก ใน 180 คงต้องยกให้กับปราสาทธมครับ ปราสาทธมมีอะไรดี ตามไปชมกันครับ

ปราสาทธม (Prasat Thom) ถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานแห่งไกรลาสปติบนพื้นโลก (สุสานในคติแบบฮินดูไศวะนิกาย) พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 คงได้เคยขึ้นไปประกอบพิธีสถาปนาสกลกษัตริย์ เพื่อการเป็นพระศิวะเทพในร่างของมนุษย์ เพื่อพระองค์จะได้เสด็จขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งหลังจากวันที่พระองค์สวรรคต ปราสาทธมมีการวางผังเป็นเส้นตรงตามแนวแกนยาว เป็นเส้นทางเสด็จขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์

เริ่มต้นจากโคปุระด้านหน้า แผนผังกากบาทขนาดใหญ่ ถัดเข้าไปจะเป็นอาคารหน้าจั่ว สร้างจากหินทรายและอาคารศิลาแลงใหญ่ ใช้เป็นอาคารประกอบพิธีกรรม ทั้งทางซ้ายและขวาของแกนกลางเข้าสู่ซุ้มประตูที่สร้างเป็นปราสาทอิฐคูหาเดี่ยวรูปทรงศิขระวิมาน เรียกว่าปราสาทกรอฮอม

ปราสาทกรอฮอม (Prasat Kraham) ก่อสร้างขึ้นจากอิฐแดงทั้งองค์ ด้านหน้ามีประติมากรรมรูปสิงห์นั่งอยู่ตรงบันได หน้าบันเป็นรูปพาลีประลองกำลังกับสุครีพ ด้านในพบเพียงฐานที่ตั้งเทวรูป นักวิชาการสันนิษฐานว่า ที่นี่เป็นเทวสถานที่เคยประดิษฐานเทวรูปของพระศิวะ 10 พระกรขนาดใหญ่ ในท่าร่ายรำที่เรียกว่า “ศิวะนาฎราช”

ด้านหลังของปราสาทกรอฮอม จะเป็นชาลาทางเดิน หรือสะพานนาคสายรุ้ง เปรียบกับทางเดินขึ้นไปบนสวรรค์ จากนั้นจะพบกับอาคารมณฑปโคปุระ (Gopura Pavilion) ชั้นที่ 2 แผนผังกากบาทขนาดย่อมกว่าด้านหน้า ซุ้มประตูเป็นมุขซ้อน มีหน้าบันทรงหน้าจั่ว ภายในเคยมีซากชิ้นส่วนของรูปประติมากรรมและฐานรูปเคารพแตกกระจัดกระจายอยู่ภายในคูหาเป็นจำนวนมาก

มีรูปประติมากรรมของสัตว์คล้ายวัวและลำตัวถูกทุบวางคว่ำอยู่ ซึ่งแต่ก่อนเชื่อกันว่าน่าจะเป็นรูปวัวนนทิที่มีพระศิวะและพระนางปารวตีประทับอยู่บนหลัง

ถัดจากซุ้มประตูด้านหลังอาคารโคปุระชั้น 2 จะเป็นทางเข้ามายังหมู่ปราสาทอิฐ 9 หลัง และวิหารบูชา 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด อันมีความหมายถึงมูรติทั้ง 8 หรือ อัษฎมูรจิ การบูชาพลังแห่งพระศิวะ

เมื่อเดินทะลุเข้าไปด้านในสุด เราจะได้พบกับ ปราสาทธม (Prasat Thom) ปราสาทหินขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายกับพีระมิดของอียิปต์ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นพีระมิดแห่งกัมพูชา ด้วยเพราะเป็นอาคารที่มีฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 4 ด้าน แต่ละด้านเมื่อมองเข้าไปจะเห็นเป็นทรงสามเหลี่ยมที่มียอดแหลมที่ผ่านการคำนวณทางเลขาคณิตได้อย่างแม่นยำ ตัวปราสาทมีฐานกว้าง 55 เมตร สูง 7 ชั้น แต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร เป็นปราสาทที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากปราสาทนครวัด พีระมิดปราสาทธม สร้างขึ้นด้วยเทคนิคการเรียงหินประกอบเป็นฐาน เขื่อนรอบเนินดินขนาดใหญ่ ใช้การชักลอกและต้านแรงโน้มถ่วงด้วยการสร้างสมดุลของเนินดินสองลูก ลูกหนึ่งถูกสร้างเป็นฐานพีระมิด อีกลูกหนึ่งเรียกว่า สุสานช้างขาว เป็นเนินเขาในระนาบเดียวกัน ตั้งอยู่หลังปราสาทพีระมิด ถูกใช้เป็นที่ลำเลียงหินก่อสร้าง

เชื่อกันว่าด้านบนพีระมิดปราสาทธมเคยเป็นที่ประดิษฐานตรีภูวเนศวร หรือศิวลึงค์ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่ามีความสูงถึง 4.5 เมตร จนเป็นที่มาของชื่อเรียกเกาะแกร์อีกชื่อว่า “ลิงคปุระ” ซึ่งเป็นความเชื่อในลัทธิไศวนิกายจากอินเดีย และกลายเป็นโบราณสถานที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่เนื่องจากศิวลึงค์ทำด้วยสำริด จึงคาดว่าคงจะโดนฟ้าผ่าและคงเหลือแต่เพียงฐานสิงห์แบกขนาดใหญ่รองรับศิวลึงค์ตรีภูวเนศวรสำริดให้เห็นเท่านั้น

ติดกับสิงห์แบก จะพบช่องขนาดใหญ่ตรงใจกลางยอดของปราสาทธม บ้างก็เชื่อว่าอาจเป็นหลุมที่เป็นฐานเพื่อรองรับมหาศิวลึงค์ บ้างก็บอกว่าอาจจะเป็นกรุที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 แต่ที่แน่ๆ ด้านบนยอดปราสาทสามารถชมวิวมุมสูง ที่มองเห็นพื้นที่โดยรอบของพีระมิดได้แบบ 360 องศาเลยครับ

บริเวณด้านหลังพีระมิดจะเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าสุสานช้างขาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีในการนำหินขึ้นไปเรียงก่อเป็นพีระมิดครับ และยังมีรูปสลักของช้างขาวด้วย

นอกจากปราสาทธมแล้ว ยังมีปราสาทเนียงเขมา (Prasat Neang Khmau) หรือ ปราสาทนางดำ ที่มีความแตกต่างจากปราสาทอื่นๆ ในกัมพูชา ตรงที่ตัวปราสาทเป็นสีดำ บ้างก็สันนิษฐานว่าในสมัยก่อนตัวปราสาทมีลายปูนปั้นและปิดทองทาสีในส่วนต่าง ๆ ต่อมาสีได้หลุดหายไป อีกทั้งยังถูกเขม่าสีดำจากไฟไหม้ด้านนอกเข้ามาติดสะสม บ้างก็ว่าตัวปราสาทถูกทาสีให้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้น

บริเวณหน้าบัน เป็นรูปพระพรหม ด้านในปราสาทเป็นที่ตั้งของฐานโยนี มีเอกมุขลึงค์แบบสลักฐานยอดกลม ซึ่งมองเห็นว่ามีรอยหัก จึงอาจจะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในชุมชน ตามคติพราหมณ์ไศวนิกายของเกาะแกร์

ในอดีตมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาสำรวจปราสาทเนียงเขมาเป็นครั้งแรก ภายในปราสาทมีหลักฐานพัฒนาการของภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง รูปของพระนารายณ์ตรีวิกรม (พระวิษณุย่างสามขุม อันเป็นนารายณ์อวตาร ปางที่ 5 วามนาวตาร) และพระศิวะ เป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพเหล่านั้นได้หลุดร่อนหายไปจนหมดในช่วงสงครามกลางเมือง เดิมปราสาทนี้มีศิวลึงค์ประดิษฐานอยู่ด้านใน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐานเท่านั้น

อีกหนึ่งกลุ่มปราสาทที่ไม่อยากให้พลาดเข้าชมนั่นคือ ปราสาทปรำ (Pram Temple) คำว่า “ปรำ” แปลว่า ห้า ตามจำนวนเทวสถานห้าหลังของชุดปราสาทนี้ ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ในแกนเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยองค์กลางมีขนาดใหญ่และสูงกว่า มีร่องรอยของฐานโยนี ซึ่งน่าจะเคยใช้เป็นที่ตั้งของแท่นศิวลึงค์มาก่อน และจะมีอีก 2 ปรางค์ตั้งอยู่ด้านหน้า ประกบซ้ายขวา โดยที่ปรางค์ด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่า นักโบราณคดีบางท่านก็เชื่อว่าเป็นบรรณาลัย บ้างก็บอกว่าเป็นเมรุเผาศพ เนื่องจากมีช่องระบายอากาศอยู่ด้านบน บ้างก็บอกว่าเป็นธรรมศาลา (บ้านมีไฟ) ปรางค์ที่ใช้จุดไฟไว้ข้างใน เพื่อใช้เป็นเพลิงศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบศาสนาพิธี 2 ใน 5 ปราสาท ถูกปกคลุมด้วยรากต้นไม้ใหญ่เลื้อยพันอยู่ เพิ่มความมีเสน่ห์ให้กับสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก

สำหรับการเข้าชมกลุ่มปราสาทในเกาะแกร์นั้น มีค่าเข้าชมท่านละ 15$ ครับ

ไปต่อที่นครวัด นครแห่งศาสนาและความเร้นลับ อีกหลายประเด็นที่ยังรอคำตอบและยังต้องค้นหากันต่อไป โดยเริ่มจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการก่อสร้าง การออกแบบ เทคนิคการใช้วัสดุ บุคคลแรกที่ค้นพบ แต่ที่แน่ๆ นครแห่งนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมเขมรรูปแบบคลาสสิกที่สำคัญที่สุด ที่แฝงคำตอบด้านวัฒนธรรม การเมืองและศิลปะหลากหลายให้ค้นหา

จุดประสงค์ที่แท้จริงที่มาของนครวัดยังรอการศึกษา จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่าใครเป็นผู้ก่อสร้างนครวัดและสร้างขึ้นเพื่ออะไร อย่างไรก็ตามมีนักสำรวจระบุและสันนิษฐานไว้ว่า การออกแบบในขั้นต้นและการก่อสร้างตัวปราสาทเริ่มต้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 หรือในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งครองราชย์ในปี ค.ศ.1113 – ค.ศ.1150 สร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้แก่พระวิษณุ เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่เป็นจารึกสมัยการก่อสร้างหรือจารึกสมัยใหม่ที่ระบุว่าได้มีการสร้างปราสาทขึ้น จึงไม่ทราบชื่อดั้งเดิมของปราสาท แต่อาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อปราสาทวิษณุโลก เป็นชื่อที่ตั้งตามเทพองค์ประธานของปราสาท คาดกันว่าการก่อสร้างน่าจะหยุดลงไม่นานหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทำให้ภาพสลักนูนต่ำบางส่วนนั้นยังแกะสลักไม่เสร็จ ปี ค.ศ.1177 หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ราว 27 ปี เมืองพระนครถูกยึดครองโดยชาวจาม ที่เป็นศัตรูเดิมของชาวเขมร ภายหลังจึงได้มีการฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้งโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งได้สถาปนาเมืองหลวงและปราสาทประจำเมืองแห่งใหม่ขึ้นคือนครธมและปราสาทบายน ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธ ถึงปัจจุบันนครวัดแตกต่างจากปราสาทอื่นในเมืองพระนคร ที่แม้ตัวปราสาทจะหมดความสำคัญลงไปหลังคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทกลับไม่เคยถูกทิ้งร้างเลย ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างหลั่งไหลมาชมความยิ่งใหญ่ของนครวัดแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย

นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในเรื่องราวว่าด้วยเทวดาของศาสนาฮินดูครับ

ส่วนนอกสุดของนครวัดถูกกั้นด้วยคูเมืองขนาดใหญ่ซึ่งมีความยาว 1.5 กิโลเมตร กว้าง 1.3 กิโลเมตร และมีพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 2 ตารางกิโลเมตร หรือ 200,000 ตารางเมตร

ที่นี่เรียกว่าเป็นสุดยอดแห่งปราสาทขอมโบราณซึ่งมีการวางผังของปราสาทไม่เหมือนกับที่อื่นๆ โดยสามารถสังเกตได้จากโคปุระ หรือซุ้มประตูทางตะวันตกของกำแพงนอกสุด ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดและใหญ่กว่าโคปุระอีก 3 ทิศที่เหลือ ด้วยขนาดที่ใหญ่โตของนครวัด สัญลักษณ์ต่างๆ ที่แทนในสิ่งก่อสร้างทั้งหลายตามความเชื่อในศาสนาฮินดูก็ให้ภาพและความรู้สึกที่คล้ายจริง คูเมืองนั้นหมายถึงมหาสมุทรที่ล้อมรอบโลก ระเบียงคดที่เชื่อมต่อล้อมรอบตัวปราสาทหมายถึงเทือกเขาน้อยใหญ่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุที่ประทับของเทพเจ้า และตัวปราสาทชั้นบนสุดหรือปรางค์ประธานหมายถึงยอดเขาพระสุเมรุ การได้ขึ้นไปบนปรางค์ประธานอันสูงชันก็เหมือนกับการจำลองการขึ้นเขาพระสุเมรุจริงๆ

บริเวณระเบียงคดชั้นแรก เป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปพระวิษณุ สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นรูปแทนตัวของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพราะถือว่าพระวิษณุอวตารลงมาปกครองโลก คือเป็นทั้งรูปของกษัตริย์และของเทวะ เรียกว่าพระเทวราช มีความหมายว่า ราชาผู้เป็นเทพเจ้า

กล่าวกันว่าเมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สวรรคตลง ราชสำนักก็นำพระศพบรรจุลงในถังหินแล้วฝังลงใต้ฐานเทวรูปพระวิษณุ แล้วทำพิธีอัญเชิญวิญญาณเข้าสิงสถิตอยู่ในเทวรูปพระวิษณุ และทำพิธีเบิกเนตรเพื่อให้พระเจ้าสุริยวรมันได้ถือกำเนิดใหม่อีกครั้ง

ทางเข้านครวัดด้านหน้ามี 5 ประตู แต่ละประตูมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ประตูด้านข้างสำหรับสิงสาราสัตว์ ส่วนประตูกลางสำหรับเจ้านายชั้นสูง ส่วนนาคเจ็ดเศียรทั้งหมดเป็นหินแกะขนาดใหญ่เป็นชิ้นเดียวกัน สำหรับหลังคาของตัวปราสาทที่เห็นคล้ายกระเบื้อง ที่จริงแล้วเป็นหินแกะที่ทำให้เหมือนกับกระเบื้องหลังคาซึ่งมีกรรมวิธีในการสร้างที่ยากกว่ากันหลายเท่าตัวเลยทีเดียว สำหรับระเบียงคดด้านในนี้ มีการคำนวณการรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี

จุดเด่นที่สุดอีกจุดหนึ่งของมหาปราสาทนครวัด คือภาพสลักบนฝาผนังด้านในของระเบียงคดชั้น 2 แม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะมาจากมหากาพย์และคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู แต่ก็ไม่ได้หลงลืมกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผู้สร้าง ด้วยการสลักเป็นภาพกระบวนทัพของพระองค์ ส่วนหนึ่งในภาพสลักที่มักจะเป็นที่สนใจ จุดชมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเสมอก็คือภาพกองทัพชาวสยาม ซึ่งปัจจุบันยังหาข้อสรุปได้ไม่แน่ชัดว่าเป็นสยามกลุ่มใด โดยมีลักษณะเด่นที่การแต่งกายและการเดินทัพที่ดูไม่เป็นแถวไม่เป็นระเบียบ

ตัวปราสาทมีทั้งหมด 5 หลัง ถูกสร้างขึ้นแบบเดียวกับเขาพระสุเมรุบนสรวงสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ล้อมรอบด้วยภูเขา 7 ทิว เรียกว่า “สัณบริภัณฑคีรี” มีความสูงลดหลั่นกันลงไปทีละครึ่ง ถัดออกไปเป็น "มหานทีสีทันดร" ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เป็นคูน้ำล้อมรอบตัวปราสาท มีทวีปทั้ง 4 ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ คือ อุตตรกุรุทวีป, บุรพวิเทหทวีป, ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป เป็นปรางค์ปราสาท 4 หลัง ที่ล้อมรอบปราสาทกลาง เหนือเขาพระสุเมรุขึ้นไป ประกอบด้วยสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ได้แก่ จตุมหาราชิก, ดาวดึงส์, ยามา, ดุสิต, นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัสดี ซึ่งเป็นยอดฉัตรเหนือปรางค์ปราสาท 5 ชั้น

บริเวณด้านในสุด จะถือว่าเป็นชั้นสวรรค์ ซึ่งเราจะพบเห็นรูปสลักนางอัปสรามากกว่า 1,796 นาง รายล้อมอยู่เต็มไปหมด นางอัปสราทั้งหมดมีเครื่องแต่งกายและทรงผมที่ไม่ซ้ำกัน มีความเชื่อว่า นางอัปสราคือนางฟ้าหรือเทพธิดาผู้รับใช้และคอยดูแลศาสนสถาน และเป็นเทพธิดาแห่งความดีงามครับ

ผมไม่แน่ใจว่านางนี้เป็นนางอัปสราที่มีหน้าอกสวยหรือไม่ เพราะเห็นว่าบริเวณหน้าอกโดนลูบ จนเนื้อหินที่ว่าสากๆ กลับมีผิวเกลี้ยงจนเป็นผิวมัน เลยเผลอคิดไปว่านางอัปสรานางนี้ถูกขึ้นรูปจากแผ่นเงินครับ

บางนางก็จะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เช่นมีลิ้นสองแฉก

ปรางค์ปราสาทหลัก เปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาลครับ

เมื่อขึ้นมาชั้นในสุดของนครวัดแล้ว มองออกไป จะเห็นบรรณาลัย ส่วนด้านหลังห้องบรรณาลัยจะเป็นระเบียงคดชั้นแรกครับ

ส่วนจุดนี้จะเป็นระเบียงคดชั้นที่ 2 มองเห็นเหมือนแผ่นกระเบื้องใช้มุงหลังคาระเบียงคด แต่ถ้าดูดีๆ นั่นคือการแกะหินให้มีลักษณะคล้ายแผ่นกระเบื้อง เช่นเดียวกับการสลักเสาต่างๆ

สำหรับใครที่ต้องการขึ้นไปชมตัวปราสาทชั้นในสุด คงต้องเลือกวันมาเที่ยวให้ดีนะครับ เพราะตัวปราสาทชั้นในสุด จะไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เดินขึ้นไปชมด้านใน ในวันพระนะครับ แต่จะสามารถเดินชมได้แต่เพียงโดยรอบของปราสาทชั้นในเท่านั้น

ใครที่อยากจะชมพระอาทิตย์ขึ้นด้านหลังปราสาทนครวัด ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมช่วงไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวต่างตั้งตารอคอย แนะนำว่าให้มาถึงตัวปราสาทกันตั้งแต่เช้ามืด ราวๆ 05.30 น. เพราะถ้ามาช้ากว่านี้ พื้นที่ดีๆ ที่สามารถมองเห็นตัวปราสาทครบ 5 ยอด จะถูกจับจองจนหมด จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมารอชมจะอยู่บริเวณสระน้ำด้านหน้า ซึ่งสระน้ำจะตั้งอยู่ 2 ฝั่ง ซ้าย-ขวา ของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท สำหรับด้านซ้ายจะมีการสร้างโครงตาข่ายปิดรอบสระ ทำให้บดบังทัศนียภาพไปสักนิด จึงทำให้นักท่องเที่ยวดูบางตากว่าบริเวณสระน้ำทางขวามือครับ เสียดายวันที่ผมไป แสงแรกไม่ค่อยออก ฟ้าไม่ค่อยเคลียร์ ผมยืนรออยู่บริเวณสระน้ำด้านซ้ายราว 1 ชั่วโมง จนถอดใจ คิดว่าไม่เห็นดวงอาทิตย์แล้ว เลยเดินออกมาจากจุดชมวิว แต่เพียงไม่ถึง 5 นาที ดวงอาทิตย์กลับโผล่พ้นกลุ่มเมฆ แถมยังเปล่งแสงสาดส่องไปยังก้อนเมฆ ดูสวยงามมาก เห็นแบบนั้นแล้วอยากจะเขกหัวตัวเองเลย เพราะทำเลดีๆ ที่ผมเดินออกมาตอนนั้น มีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ มาจับจองแทนไปแล้วครับ

อีกหนึ่งช่วงเวลาทองหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ผมแนะนำว่าให้รีบเดินมาที่ด้านหลังของนครวัดโดยทันที เพราะช่วงเวลาทองที่ผมว่าจะปรากฏให้เห็นภายในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น สำหรับช่วงเวลาทองที่ผมพูดถึงจะเป็นช่วงเวลาที่ตัวปราสาททั้ง 5 ของนครวัดจะเปล่งแสงเป็นสีทอง เหตุที่ตัวปราสาทเปล่งแสงเป็นสีทอง เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ฉาบไปยังปรางค์ทั้ง 5 นั่นเอง ยิ่งวันไหนสภาพอากาศเป็นใจ ท้องฟ้าโปร่งใส เราจะได้เห็นปรางค์ทั้ง 5 เปล่งเป็นสีทองอร่ามเลยครับ

การมานครวัดรอบนี้ของผม นับเป็นรอบที่ 4 แล้วครับ

การก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้น ว่ากันว่าใช้แรงงานผู้คนนับแสน โดยส่วนใหญ่เป็นเชลยสึก พร้อมกับแรงงานช้างอีกกว่า 40,000 เชือก รวมไปถึงหินหลายล้านตันที่ได้มาจากพนมกุเลน รวมปริมาตรของหินแล้วไม่ต่ำกว่า 600,000 ลูกบาศก์เมตรส่วนเสาหินนั้นมีการนับกันว่ามีไม่ต่ำกว่า 1,800 ต้น โดยมีน้ำหนักแต่ละต้นไม่ต่ำกว่า 10 ตัน น่าพิศวงไหมครับว่า เมื่อพันปีก่อนนั้น เขาทำสิ่งนี้ได้อย่างไร

จากนครวัด ไปต่อกันที่นครธมกันครับ

นครธม คือราชธานีแห่งใหม่ อันเป็นพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ต้องการจะขยายอาณาจักรขอมให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น และยังเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้าย เมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขแมร์ อยู่ทางทิศเหนือของนครวัด สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมๆ กับการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ. 1724 และมีการสร้างเติมแต่งบ้างภายหลังโดยกษัตริย์องค์ต่อๆ มา มีความยาวของกำแพงโดยรอบประมาณ 12 กิโลเมตร กำแพงแต่ละด้านยาวข้างละ 3 กิโลเมตร ก่อด้วยศิลาแลงสูง 8 เมตร มีคูเมืองล้อมรอบกว้างประมาณ 80 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,625 ไร่ ภายในเมืองมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับตั้งแต่สมัยแรก และที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และรัชทายาท

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าเมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นศูนย์กลางของโลก ก็คือ สัญลักษณ์ของการเกษียรสมุทรที่จะเห็นกันอยู่สองแนวจนไปถึงประตูทางเข้า โดยรอบของเมืองนครธมกว่า 9 ตารางกิโลเมตรเต็มไปด้วยน้ำ ซึ่งน้ำที่ใช้ในการล้อมรอบนี้เป็นเหมือนกับพื้นที่ที่ใช้ในการป้องกันอริราชศัตรู ในอดีตแถวนี้เต็มไปด้วยจระเข้ ซึ่งใช้ในการช่วยป้องกันเมืองด้วย

นครธม มีประตูทางเข้าที่สร้างจากหินทรายสลักเป็นรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จำนวน 5 ประตูจาก 4 ทิศ (เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก) โดยด้านตะวันออกมี 2 ประตู คือประตูตะวันออกและประตูชัย

พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มีรอยยิ้มที่เป็นสุข หรือยิ้มแบบบายน ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา

นครธม มีความหมายว่าเป็นเมืองใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรขอมมั่งคั่งรุ่งโรจน์มากที่สุด และมีพระราชวังรวมทั้งปราสาทต่างๆ มากมาย สำหรับในนครธม ผมจะขอพาไปชมปราสาทบายนเป็นปราสาทแรกครับ

ปราสาทบายน (Bayon Temple) เป็นศูนย์กลางของนครธมเมืองหลวงเก่า ตัวปราสาทสร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.1724-1763 มีอายุมากกว่า 800 ปี โครงสร้างเป็นหินทราย ศิลาแลงขนาดใหญ่ ปรางค์ประธานมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เมตรและสูง 43 เมตร ตัวปราสาทโดยรอบแบ่งออกเป็นสามชั้น ประกอบระเบียงคดด้านนอก ระเบียงคดด้านในและบนสุดเป็นชั้นของปรางค์ประธาน จุดเด่นของปราสาทบายน เห็นจะเป็นการแกะสลักเป็นรูปหน้าคน ฝังเอาไว้บนยอดปราสาททั้งสี่ด้าน มีด้วยกันทั้งหมด 54 ยอดสันนิษฐานกันว่าเป็นพระพักตร์ขององค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตามความเชื่อของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงนับถือพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากกษัตริย์เขมรโบราณส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาฮินดู แต่บางตำนานก็ว่าเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครับ การเดินชมตัวปราสาทบายน ให้ความรู้สึกเหมือนมีคนคอยจ้องมองอยู่ทุกฝีก้าว เพราะว่าไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหน เราก็จะเห็นใบหน้าของคนนับรวมกันได้ 216 หน้าครับ

รอบๆ ปรางค์ประธานประกอบไปด้วยระเบียงคดสองชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นนอกมีขนาดกว้าง 140 เมตร ยาว 160 เมตร ชั้นในมีขนาดกว้าง 70 เมตร ยาว 80 เมตร บริเวณระเบียงคดด้านนอกมีรูปสลักนูนต่ำที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำสงครามทางเรือระหว่างเขมรกับจามปา หรือเวียดนาม และเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคนั้นครับ

ไม่ไกลจากปราสาทบายน จะเป็นที่ตั้งของปราสาทบาปวน ครับ

ปราสาทบาปวน (Baphuon Temple) เป็นปราสาทแรกในกลุ่มของปราสาทเมืองพระนคร มีอายุเกือบ 1,000 ปี ที่ตั้งของปราสาทอยู่ในเขตพระราชวังหลวง สร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัด จากดำริของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เพื่อบูชาพระศิวะตามความเชื่อในศาสนาฮินดู มีทางเดินผ่านตัวปราสาทเป็นสะพานหินยกระดับทอดยาว ทางเดินเข้าผ่านโคปุระ รูปกากบาท 3 ทาง

ตัวปราสาทมีขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายกับพีระมิด มีฐานเป็นชั้นๆ ส่วนบนสุดเป็นปราสาทประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะของตัวปราสาทประธานมียอดเรียวแหลมครับ

มีระเบียงคดถึงสามชั้นที่เชื่อมต่อกันได้ตลอด

ปราสาทบาปวนเป็นปราสาทที่มียอดสูง มีหลักฐานจากการบันทึกของราชทูตเมืองจีนในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 กล่าวไว้ว่ายอดปราสาทบาปวนเคลือบด้วยทองสัมฤทธิ์ แลอร่ามแต่ไกล แต่เนื่องจากส่วนยอดพังลงมา จึงไม่สามารถวัดความสูงที่แท้จริงของปราสาทได้ งานศิลป์ในยุคนี้มีความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ และได้รับการเรียกขานกันในยุคต่อมาว่าศิลปะแบบบาปวน

มาเที่ยวชมที่ปราสาทบาปวนแล้ว อย่าพลาดเดินขึ้นไปด้านบนสุดนะครับ เพราะด้านบนนี้สามารถชมวิวโดยรอบตัวปราสาทได้ด้วยครับ

ติดกับปราสาทบาปวน เป็นที่ตั้งของพิมานอากาศ

ปราสาทพิมานอากาศ (Phimeanakas Temple) สร้างในปีพุทธศตวรรษที่ 15 รัชสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และต่อเติมเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศิลปะแบบคลัง สร้างในฮินดู ไศวนิกาย

ทางเข้าชมพระราชวังต้องเดินผ่านฐานขึ้นบนพลับพลาสูงไปตามบันไดครุฑ เพราะพระราชวังนี้ตั้งอยู่บนพลับพลาสูงครับ บนฐานพลับพลาสูงแห่งนี้ยังมีร่องรอยการปลูกสร้างพลับพลาในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ออกว่าราชการตรวจพลสวนสนาม หรือประกอบพิธีทางศาสนา ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยอีกแล้ว เพราะสิ่งก่อสร้างทำจากไม้

ปราสาทพิมานอากาศเป็นปราสาทหลังเดียวที่ก่อสร้างด้วยหินทรายอยู่บนฐานศิลาแลง ซ้อนกันเป็น 3 ชั้น คล้ายพีระมิด ความสูงของฐานปราสาทพิมานอากาศทั้ง 3 ชั้นราว 12 เมตร (ชั้นละ 4 เมตร) รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดลาดชันทั้ง 4 ด้าน ส่วนฐานล่างวัดจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ มีความกว้าง 28 เมตร วัดจากทิศตะวันออกไปถึงตะวันตกมีความยาว 35 เมตร ตัวปราสาทบนฐานชั้นบนสุดด้านนอกเป็นระเบียงคดทำจากหินทราย ด้านในเป็นตัวปราสาทสร้างบนฐานสูง 2.5 เมตร ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ขึ้นไปด้านบนของปราสาท ทำได้เพียงเดินชมบริเวณโดยรอบเท่านั้นครับ

ติดกับพลับพลาทางเข้าปราสาทพิมานอากาศเป็นที่ตั้งของพระลานชนดำรี หรือพระลานชนช้าง (Terrace of Elephants) เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมือง Angkor Thom ลานนี้มีความยาว 350 เมตร สร้างเป็นเขตแดนด้านตะวันออกของเขตพระราชวัง ทอดตัวไปทางเหนือ-ใต้ ระเบียงสูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 15 เมตรตลอดแนว พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 เคยใช้เป็นลานทอดพระเนตรขบวนทัพ จัดราชพิธี และเสด็จออกมหาสมาคม ตลอดจนการต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ลักษณะเด่นคือ มีรูปช้างอยู่เต็มไปหมดครับ

ด้านข้างของพระลานชนช้างสลักเป็นรูปครุฑ ช้าง ดูสวยงามมากๆ ครับ

ด้านบนพระลานชนช้าง ก็มีภาพสลักที่งดงามไม่แพ้กัน

มีภาพสลัก ม้าพลาหะ เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่อวตารลงมาช่วยผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก เมื่อครั้งพระองค์ทรงช่วยพวกเรือแตกจากนางยักษิณี เมื่อเห็นรูปม้าพลาหะแหวกว่ายไปยังตัวปราสาท ทำให้ผู้คนพลันเกิดความเชื่อที่ว่า ม้าวิเศษตัวนี้ได้เหาะพาผู้คนไปยังสรวงสวรรค์ โดยผู้คนเหล่านี้จะเกาะหางและขนม้าพาไป บ้างก็ว่าม้าพลาหะได้พาผู้คนข้ามพ้นมหาสมุทร

ติดกับพระลานชนช้างเป็นที่ตั้งของพระลานเสด็จขี้เรื้อน (Terrace of Leper King) ที่สร้างขึ้นด้วยลักษณะแบบบายนในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชื่อพระลานเสด็จขี้เรื้อนเป็นนามที่เกิดขึ้นในภายหลัง โดยอ้างถึงเทวรูปพระยม อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งพบอยู่ในบริเวณนั้น มีสีกระดำกระด่างและมีตะไคร่ปกคลุมเหมือนคนเป็นเรื้อน อีกทั้งยังสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 กษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองยโศธรปุระอันเป็นที่ตั้งนครธมนั้น ประชวรด้วยโรคเรื้อน แต่ชื่อจริงๆ ของเทวรูปดังกล่าว คือ "ธรรมราชา" ดังที่จารึกอยู่บนตัวรูปเอง

พระลานเสด็จขี้เรื้อน ทำเป็นรูปตัวยู (U) ทำให้เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้านาย ที่กำแพงของพระลานเสด็จขี้เรื้อนมีการสลักหินเป็นรูปนาค เทวดา นางอัปสรา เต็มผนัง ดูสวยงามเลยทีเดียวครับ ด้านในกำแพงมีทางเดินวกไปวนมา ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในเขาวงกตเลยครับ

เทวรูปพระยม (มัจจุราช) องค์จำลอง ทำมาไว้แทนของจริงที่ย้ายไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญครับ

ใกล้กับพระลานเสด็จขี้เรื้อน เป็นที่ตั้งของปราสาทพระป่าลิไลยก์ (Preah Palilay Temple) จะเรียกว่าเป็นปราสาทขอมแบบพุทธเถรวาทก็คงไม่ผิด เพราะปราสาทแห่งนี้มีลักษณะผสมผสานระหว่างคติฮินดูและพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ชื่อป่าลิไลยก์ มีที่มาจากรูปแกะสลักหินทราย พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในป่า มีช้างและลิงหมอบเฝ้าอยู่ใกล้ ๆ เป็นภาพพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในเมืองโกสัมพี ทรงหน่ายในคณะสงฆ์ที่ไม่สามัคคีทะเลาะกัน จึงเสด็จหลีกพระองค์ไปประทับในป่าเลไลยกะ (ปาลิไลยก์ มาจากภาษาบาลี ปาลิเลยยะ อันเป็นที่มาของชื่อปราสาทพระป่าเลไลย์) แต่เพียงลำพัง มีช้างสารและลิงมาคอยอุปัฏฐากปรนนิบัติพุทธองค์

ปราสาทพระป่าลิไลยก์ เป็นศิลปะสมัยบายน ศิลปะร่วมสมัยกับพระปรางค์ในประเทศไทย เช่น พระมหาธาตุ อยุธยา วัดราชบูรณะ และพระมหาธาตุ ราชบุรี คาดว่าปราสาทพระป่าลิไลยก์นี้ถูกสร้างทับซ้อนกันในหลายช่วงยุค อาจสร้างขึ้นแต่แรกในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระเจ้าธรานินทราชวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1693 - 1703) เพื่ออุทิศให้กับพระพุทธศาสนาก่อน แล้วจึงมาถูกปรับใช้เป็นวัดฮินดูหลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก่อนที่ภายหลังในยุคท้ายๆ ของจักรวรรดิขแมร์ ก่อนการล่มสลายของอาณาจักรเมืองพระนคร ก็ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นปราสาทพุทธแบบเถรวาทอีกครั้งหนึ่ง

ปราสาทพระป่าลิไลยก์ ได้รับการวางผังในลักษณะกากบาท ขนาด 8.5x30 เมตร ซุ้มประตูด้านในเป็นซุ้มที่มี 3 ประตู ประตูตรงกลางหันมาทางทิศตะวันออก หน้าบันเป็นรูปพระพุทธเจ้ายืนท่ามกลางรูปบุคคล ทับหลังเป็นรูปพระพุทธไสยาสน์

ตัวปราสาทสร้างจากหินทรายเรียงกัน 3 ชั้น มีรูปทรงปล่องไฟขนาด 5 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนฐานสูงราว 6 เมตร ซึ่งมีนักวิชาการให้ความเห็นว่าส่วนนี้สร้างขึ้นมาภายหลังในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครอบอาคารดั้งเดิม ทางเข้าด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีชาลาทางเดินที่มีสะพานนาคขนาบอยู่ รวมถึงสิงห์ทวารบาล เหมือนกับปราสาทขอมที่อื่นๆ ที่มีระเบียงและคูหาทางเดิน

และปราสาทสุดท้ายในนครธม ที่จะพาเที่ยวชม คือปราสาทโกส็อก (Kor Sak Temple) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกกลุ่มปราสาทพระพิธู ปราสาทนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเหมือนนครวัด อุทิศถวายแด่พระวิษณุ ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีโครงสร้างทรงพีระมิด ทางขึ้น 4 ทิศ มีคูน้ำล้อมรอบและต้นทางหลวง (Causeway) ทรงกากบาท มีการประดับตกแต่งด้วยตัวพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ไปยังโลกสวรรค์ เทวสถานในคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดู

ตามโครงสร้างของปราสาท รวมถึงรูปแบบศิลปะ สันนิษฐานได้ว่า ปราสาทโกส็อกมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายยุคสมัย และใช้วัสดุที่หลงเหลือจากปราสาทอื่นๆ ที่เป็นหินทรายก้อนเล็กๆ มาสร้าง ทำให้ปราสาทนี้มีภาพลักษณ์ไม่แข็งแรงเหมือนปราสาทอื่นๆ ที่อยู่นอกกลุ่ม คำว่าโกส็อก มาจากคำว่า “โก” หมายถึง โกน และคำว่า “ส้อก” หมายถึง ผม ครับ

หลังจากที่ชมปราสาทต่างๆ ในนครธมไปแล้ว เราไปดูปราสาทอื่นๆ ที่อยู่รอบนอกกันบ้าง ขอเริ่มที่ปราสาทตาพรหมครับ

ปราสาทตาพรหม (Ta Prohm Temple) เป็นวัดในพระพุทธศาสนา แต่มีรูปทรงแบบปราสาทเขมร เพราะสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยใช้กำลังคนและทรัพยากรจำนวนมากจึงแล้วเสร็จภายในเวลาเพียงห้าปีเท่านั้น โดยสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1729 เป็นปราสาทหินในยุคท้ายๆ ของอาณาจักรเขมร สร้างเพื่ออุทิศถวายพระราชมารดา โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเปรียบพระองค์เองเป็นพระโพธิสัตว์ พระราชมารดาของพระองค์จึงทรงเป็นพระราชมารดาของพระโพธิสัตว์เช่นกัน

ปราสาทธรรมศาลา (วหนิคฤหะ)

ความโดดเด่นของปราสาทตาพรหมอยู่ตรงที่การปล่อยให้ต้นสะปงขนาดใหญ่และต้นไม้ต่างๆ ขึ้นปกคลุมจนประสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับตัวปราสาทมานานหลายร้อยปี แม้จะมีการบูรณะซ่อมแซมก็ยังคงปล่อยไว้ให้คงสภาพเดิม ด้วยความโดดเด่นนี้ จึงได้ถูกเลือกให้เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Tomb Rider ครับ

หน้าบันและทัพหลังตามปรางค์ปราสาทและโคปุระ มีภาพสลักเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติในนิกายมหายานเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาพสลักบางภาพได้ถูกดัดแปลงให้เป็นภาพที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดูไปในที่สุด เช่นพระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้าที่ถูกสกัดให้เป็นศิวลึงค์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ที่ทรงเลื่อมใสในศาสนาฮินดู

ภาพสลักไดโนเสาร์ ใครที่มาเที่ยวชมที่นี่ต่างตามหาภาพสลักไดโนเสาร์ แต่จริงๆ น่าจะเป็นควาย ที่มีกลีบบัวซ้อนอยู่ด้านหลังครับ

อีกหนึ่งสิ่งคือภาพสลักนางอัปสรา ที่ซ่อนตัวอยู่ในรากไม้ครับ

ภายในปราสาทตาพรหมมีวิมาน 39 หลัง รูปเคารพ 267 องค์ วางผังในระบบมณฑลของนิกายตันตระยาน แต่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กลับมานับถือไศวนิกาย จึงได้มีการขูดทำลายหรือดัดแปลงพระพุทธรูปของพุทธศาสนาไปเกือบหมด

หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างปราสาทตาพรหม อุทิศให้พระราชมารดาแล้ว ก็มาสร้างปราสาทพระขรรค์ (Preah Khan Temple) ขึ้นเพื่ออุทิศให้พระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ที่นี่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชัยชนะที่มีต่อพวกจาม โดยสร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นจุดที่มีการสู้รบกันมาก่อน โดยคำว่า พระขรรค์ ซึ่งเป็นชื่อของปราสาทก็คืออาวุธที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ใช้เป็นแหล่งรวมผู้มีความรู้ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา แม้เมื่อแรกสร้างจะเป็นไปตามความเชื่อในพุทธศาสนา แต่ในรัชสมัยต่อๆ มาก็ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู

ปราสาทพระขรรค์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1734 บนสถานที่ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงรบชนะและรองรับโลหิตศัตรู เป็นอาคารที่สร้างจากหินทราย มี 2 ชั้น เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บพระแสงขรรค์ชัยศรีของพระเจ้าแผ่นดินจึงเรียกว่า ปราสาทพระขรรค์ นอกจากจะสร้างปราสาทแห่งนี้เพื่ออุทิศถวายพระบิดาแล้ว ยังใช้ประกอบพิธีทางพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบศิลปกรรมสำคัญจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศียรของประติมากรรมรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทพระขรรค์ มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรง มีประตูทางเข้า-ออกสี่ทิศ มีเสานางเรียงปักบอกขอบเขตทางเดิน ถัดมาเป็นสะพานข้ามคูน้ำที่ล้อมรอบปราสาท ราวสะพานมีหินทรายแกะสลักเป็นเทวาด้านหนึ่ง เป็นอสูรอีกด้านหนึ่งซึ่งกำลังยุดนาคเหมือนประตูเมืองนครธม ข้างๆ ซุ้มประตูประดับด้วยหินทรายสลักเป็นครุฑขนาดใหญ่ทั้งสองข้าง แสดงความเป็นพระอารามของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นวิมานของเทวดา ตัวซุ้มประตูหรือโคปุระทำเป็นหลังคาชั้นซ้อนแบบดั้งเดิม ไม่เป็นรูปใบหน้าบุคคลสี่หน้าเหมือนอย่างซุ้มประตูศิลปะสมัยบายน

บริเวณด้านในมีปราสาทตั้งเรียงรายอยู่หลายหลัง นักวิชาการคาดว่าปราสาทเหล่านี้อาจเปรียบเหมือนเป็นสุสานของพระราชวงศ์

สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เคยใช้เป็นฐานที่ตั้งพระอวโลกิเตศวร แต่ครั้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นฐานโยนีและศิวลึงค์แทน

ปราสาทได้ถูกทำลายลงอย่างมาก จากการลักลอบโจรกรรม เป็นผลให้งานศิลปกรรมเช่นรูปนางอัปสราที่สลักอยู่ตามผนังปราสาทเกือบทั้งหมดถูกเลื่อยไฟฟ้าตัดออกไปจากตัวปราสาท มีการตัดทับหลังจำนวนมากออกไป รวมถึงพระพุทธรูปบางส่วนออกไปด้วย

จากการสังเกตการแต่งกายของนางอัปสรา จะมีนางอัปสรา 2 นาง ที่ดูพิเศษกว่านางอื่นๆ แถมยังตั้งอยู่ในมุมมืดลับๆ ด้วย ซึ่งคาดกันว่า น่าจะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครับ

พระมเหสีเอกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือพระนางชัยราชเทวี

ภายหลังพระนางชัยราชเทวีได้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ได้ทรงอภิเษกอีกครั้งกับพระนางอินทรเทวี ซึ่งเป็นพี่สาวของพระนางชัยราชเทวี
และทรงได้รับการแต่งตั้งให้พระนางเป็นพระมเหสีเอกในเวลาต่อมาครับ

เจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดเล็ก จำหลักด้วยศิลาทราย ตั้งอยู่ภายในปราสาทองค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอัฐิของพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครับ

หากสังเกตดีๆ ผนังของโถงนี้จะมีการเจาะรูอยู่เต็มไปหมด คาดว่าสมัยนั้นมีการตีผนังด้วยทองแดง และใส่อัญมณีที่มีสีสันต่างๆ ลงในรู เวลาที่อัญมณีต้องกับแสงในช่วงเวลากลางคืนจะเกิดประกายระยิบระยับ

ด้านข้างของวิหารกลาง จะพบอาคารหลังใหญ่ 2 ชั้น ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ใด แต่ก็มีการสันนิษฐานจากนักสำรวจฝรั่งเศสในสมัยบูรณะว่าอาจจะเป็นยุ้งข้าว อาคารหลังนี้มีลักษณะพิเศษอยู่ที่เสากลมขนาดใหญ่ คล้ายเสาโรมัน

พญานาคหัวสะพานที่ปราสาทพระขรรค์จะพิเศษไม่เหมือนใคร เพราะที่นี่จะเป็นพญาครุฑขี่นาค

จากปราสาทพระขรรค์ ไปต่อที่ปราสาทนาคพันครับ

ในบรรดาปราสาทที่ก่อสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทนาคพันนับเป็นปราสาทที่พิเศษไม่เหมือนปราสาทใดๆ เพราะปราสาทแห่งนี้มีการก่อสร้างที่แปลกตามากที่สุด เนื่องจากตัวปราสาทตั้งอยู่กลางสระน้ำ เปรียบเสมือนเกาะอยู่กลางทะเล หรือเปรียบกับภูเขาหิมาลัยที่อยู่กลางมหาสมุทร การมาเที่ยวชมปราสาทนาคพัน เราจะต้องเดินไปตามสะพานที่ทอดยาวบนผืนน้ำ ที่รายล้อมไปด้วยดอกบัว และเมื่อมองออกไปจะเห็นสุสานต้นไม้ยืนต้นตาย ดูสวยงามเลยทีเดียวครับ

ปราสาทนาคพันธ์ (Neak Poan Temple) เป็นปราสาทขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานกลมที่มีลักษณะซ้อนลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นๆ ชั้นสุดท้ายเป็นรูปพญานาค 7 เศียร 2 ตัว โอบล้อมฐานของปราสาท โดยหันส่วนหัวไปทางทิศตะวันออก และส่วนหาง วนอ้อมฐานมาบรรจบกันทางทิศตะวันตก ที่ฐานของปราสาทจำหลักรูปดอกบัวรองรับตัวปราสาท และมีรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประดิษฐานอยู่ที่ปราสาททั้ง 4 ทิศ

ปราสาทนาคพันธ์ สร้างอยู่กลางสระสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ มีบ่อน้ำขนาดเล็กตั้งอยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศ แต่ละบ่อมีส่วนที่เชื่อมต่อกับสระใหญ่ตรงกลางเพื่อให้น้ำจากสระใหญ่สามารถไหลไปสู่บ่อเล็กได้ การก่อสร้างปราสาทนาคพันธ์น่าจะเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อทางศาสนา ผังของปราสาทเป็นลักษณะการจำลองของสระอโนดาต ซึ่งเป็นสระน้ำบนสวรรค์ มีน้ำที่ใสสะอาดและเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา มีท่าน้ำอยู่ 4 ท่า น้ำในสระอโนดาตจะไหลออกตามช่องภูเขาที่ตั้งอยู่ทั้ง 4 ทิศของสระ ซึ่งปากช่องของภูเขาแต่ละลูกจะเป็นรูปหน้าของสัตว์ 4 ชนิด คือ สิงห์ ช้าง ม้า และวัว

แต่ที่ปราสาทนาคพัน จะมีรูปจำหลักในทิศทั้ง 4 คือ ที่สระน้ำทางทิศตะวันตกมีหินสลักเป็นรูปหัวมนุษย์ สระน้ำทางทิศเหนือมีหินสลักเป็นรูปหัวช้าง สระน้ำทางทิศตะวันออกมีหินสลักเป็นรูปหัวม้า และสระน้ำทางทิศใต้มีหินสลักเป็นรูปหัวสิงห์ จะเห็นว่าช่างขอมจำหลักรูปหน้าสัตว์ประจำทิศในแต่ละทิศตามคติความเชื่อเรื่องสระอโนดาต แต่ในทิศตะวันตกกลับจำหลักรูปหน้าคนแทนหน้าวัว

คติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปราสาทนาคพันธ์มีทั้งความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูปะปนกัน ตัวปราสาทกลางสระสร้างตามความเชื่อทางศาสนาพุทธ แต่ไม่ปรากฏรูปพระพุทธเจ้ากลับมีรูปสลักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแทน

ไม่ไกลจากปราสาทนาคพัน เป็นที่ตั้งของปราสาทตาสม (Ta Som Temple) ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และทำการขยายเพิ่มเติมในรัชสมัยของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ลักษณะเด่นของปราสาทตาสมคือพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งอยู่บนยอดของปรางค์ประธานและโคปุระที่กำแพงด้านนอกมีพระพักตร์ทั้งสี่ทิศรูปแบบลักษณะเช่นนี้เหมือนกับปราสาทบายน

ปราสาทตาสมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือโคปุระด้านนอกและกำแพงล้อมรอบ โคปุระด้านใน และปรางค์ประธานพร้อมกับระเบียงคดทั้งสี่ด้าน มีบรรณาลัยอยู่ในระเบียงคด กำแพงด้านนอกมีความกว้าง 200 เมตร ยาว 240 เมตร เส้นทางเข้าสู่ทิศตะวันออกเข้าสู่โคปุระด้านในจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ระเบียงคดรอบปรางค์ประธานมีความยาว 30 เมตร กว้าง 20 เมตร บรรณาลัยอยู่ทางทิศเหนือและใต้ด้านละหลัง

รูปแบบของปราสาทตาสมอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคต้นๆ ของศิลปะแบบบายน โดยสังเกตได้จากลักษณะของนางอัปสรา และลักษณะของเสากรอบประตูที่เป็นแปดเหลี่ยมและมีลายสลักลักษณะเป็นดอกไม้และใบไม้อยู่โดยรอบ คล้ายคลึงกับปราสาทบายนมาก

จากปราสาทตาสม ไปต่อที่ปราสาทแม่บุญตะวันออก (East Mebon Temple) ปราสาทที่เปรียบประหนึ่งวิมานที่อยู่บนยอดเขา เพราะความสูงทั้ง 3 ชั้นของปราสาท จากพื้นถึงยอดปรางค์ประธานมีความสูงถึง 28 เมตร กำแพงล้อมรอบปราสาทกว้าง 121 เมตร ยาว 126 เมตร ฐานชั้นล่างของปราสาทกว้าง 104 เมตร ยาว 108 เมตร เป็นปราสาท 5 หลังบนฐานเดียวกัน ปราสาทนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันเมื่อ พ.ศ. 1496 เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ “ราเชนทเรศวร” ตามหลักปาญจยตนะ เป็นปราสาทอิฐบนฐานศิลาแลง สันนิษฐานว่าปราสาท 2 หลังข้างหน้าประดิษฐานพระบรมรูปของพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีของพระองค์ ส่วนปราสาทอีก 3 หลังประดิษฐานพระตรีมูรติ

ไม่ไกลกันนักเป็นที่ตั้งของปราสาทแปรรูป (Pre Rup Temple) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู นิกายไศวนิกาย สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน โดยใช้เป็นปราสาทหลวง และอุทิศถวายให้แก่พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ปราสาทแปรรูป เป็นปราสาทบนฐาน เป็นชั้นที่มีปราสาทยอดสร้างด้วยอิฐเช่นเดียวกับปราสาทอื่นๆ ในศิลปะสมัยพระนครตอนต้น อย่างไรก็ตาม พัฒนาการใหม่ที่สามารถสังเกตได้ก็คือ ปราสาทประธานได้เพิ่มจำนวนเป็นห้าหลังเป็นครั้งแรกและปราสาทเริ่มปรากฏ อาคารยาวๆ โดยรอบซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับระเบียงคดในระยะต่อมา อาคารยาวๆเหล่านี้คงใช้เป็นที่เก็บของหรือเป็นที่พัก ด้านหน้าปราสาทปรากฏแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งคงเป็นที่ประดิษฐานโคนนทิมาก่อน ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว

ไปต่อที่สระสรง สระน้ำที่ขุดโดยบรรพชนของชาวเขมร ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ท่าน้ำของสระสรงสร้างขึ้นด้วยหินทราย มีบันไดสิงห์ลงไปถึงพื้นน้ำ ส่วนที่เป็นราวสะพานนาคมีลักษณะจัตุรมุข ลักษณะกากบาท ประกอบด้วยประติมากรรมรูปสิงห์คู่ และมีบันไดลงไปยังลานจัตุรมุขซึ่งประกอบด้วยนาค 7 เศียร เชื่อว่าสระสรงนี้ใช้เป็นที่สรงน้ำของพระมหากษัตริย์ ที่สระสรงนี้สามารถมาชมพระอาทิตย์ขึ้นได้ด้วยนะครับ

ไปต่อที่ปราสาทกระวาน (Kravan Temple) ปราสาทเล็กๆ แต่สำหรับผม ถึงจะเล็กแต่เป็นเล็กพริกขี้หนูครับ คำว่ากระวาน แปลว่าดอกต้นนมแมว ปราสาทนี้สร้างโดยข้าราชการชั้นสูงของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ที่มีชื่อว่า มหิทรวรมัน ซึ่งท่านเป็นขุนนางเอก สร้างถวายพระวิษณุ ตามสถาปัตยกรรมแบบศิลปะบาเค็ง-เกาะแกร์ ลักษณะเป็นวิมาน 5 หลัง เรียงบนฐานเดียวกันในแนวเหนือใต้ หันหน้าทางทิศตะวันออก มีทวารบาลสูงใหญ่ที่ปรางค์ประธาน จุดเด่นของปราสาทกระวานคือภาพสลักภายในองค์ปราสาทครับ

ภายในห้องครรภคฤห์ของปรางค์ประธานแกะสลักภาพ “วิษณุอัษฏภุช” (วิษณุ 1 เศียร 8 กร) ซึ่งหายากมากในศิลปะเขมร ผนังซ้ายแกะเรื่อง “ตรีวิกรม (วามนาวตาร)” ซึ่งเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระวิษณุ โดยอวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย ผนังขวาแกะภาพ “วิษณุครูฑาสนมูรติ” ที่กรอบประตูมีร่องรอยจารึก บอกเล่าเรื่องราวของปราสาทกระวาน

ปราสาทบริวารทางซ้ายมือของปราสาทประธาน ตามคติพระศักติ (สตรีอยู่ทางซ้าย) ผนังตรงกลาง สลักเป็นภาพนูนต่ำรูปพระแม่ลักษมี 2 พระกร ถือดอกบัว และบริวาร 4 องค์ ผนังฝั่งใต้ แสดงรูปของพระไวษณวี/พระวิษณุศักติ 4 พระกร ถือจักร ตรีศูล ดอกบัวและขวาน ว่ากันว่าในสมัยก่อนจะปิดทับด้วยแผ่นทองคำทั้งหมดครับ

ปราสาทกระวานถูกสร้างตามแนวคิดของเขาพระสุเมรุ ปรางค์องค์กลางเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ปรางค์ซ้ายขวาอย่างละสองปรางค์ เปรียบเสมือนทวีปทั้งสี่ ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ฐานของปราสาทกระวานไม่ได้ยกสูง เพราะเป็นการสร้างโดยขุนนางครับ

จากปราสาทกระวาน ไปต่อที่ปราสาทพนมบาเค็งครับ

ปราสาทพนมบาเค็ง (Phnom Bakheng Temple) ปราสาทเขมรขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.907 บนเขากลางเมืองยโศธรปุระที่เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ และศูนย์กลางจักรวาล เป็นวัดฮินดู ที่สร้างในแบบ temple mountain เพื่ออุทิศให้แก่พระศิวะ รูปทรงคล้ายพีระมิด มี 5 ชั้น ลดหลั่นกัน ประกอบไปด้วยปราสาทขนาดเล็กรวม 109 องค์ นับเป็นปราสาทหลังแรกของเมือง และยังเป็นปราสาทประจำรัชสมัยของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ภายในองค์ปราสาทประธานเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์

ในอดีตเส้นทางนี้คือเส้นทางที่จะขึ้นไปยังปราสาทพนมบาเค็ง จะมีรูปสลักสิงโตคู่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น ปัจจุบันเส้นทางนี้ไม่อนุญาตให้ขึ้นแล้ว แต่จะมีเส้นทางลูกรังใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้เดินขึ้นไปชมปราสาทด้านบนครับ

มีซากปรักหักพังและหมู่ปราสาทบริเวณฐานพีระมิดมากมาย

ปราสาทพนมบาเค็งมีรูปทรงคล้ายพีระมิด

โคนนทิ โคเผือกที่เป็นพาหนะของพระศิวะ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นตัวปราสาทครับ

ปรางค์ประธานของปราสาทพนมบาเค็ง มีภาพสลักของนางอัปสราด้วย ด้านในเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์ขนาดใหญ่มีชื่อว่ายโสธเรศวร

องค์ปรางค์เล็กๆ ที่เรียงอยู่ตามชั้นของปราสาท

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวนิยมมาชมพระอาทิตย์ตกดินและวิวของนครวัดที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล

นอกจากนี้ช่วงเย็นๆ ในวันที่ฟ้าเป็นใจ เราจะมองเห็นดวงอาทิตย์ตกด้านหลังบารายตะวันตกครับ และบารายนี้เองยังเป็นที่ตั้งของปราสาทแม่บุญตะวันตกด้วย

ไปดูปราสาทสำคัญที่อยู่รอบนอกเมืองกันบ้าง ขอเริ่มที่ปราสาทบากองครับ

ปราสาทบากอง (Bakong Temple) เป็นปราสาทประจำพระองค์ของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 เป็นปราสาทแห่งแรกที่ใช้หินจำนวนมากในการก่อสร้างมากกว่าการใช้อิฐ ด้วยรูปทรงคล้ายกับพีระมิด สร้างจากหินทราย มีด้วยกัน 5 ชั้น ภายใต้อุดมคติของการจำลองปราสาทให้เป็นเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่ประทับของเทพตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ที่นี่เป็นคล้ายกับวัดหลวงแห่งราชสำนัก มีรูปสลักที่สวยงามทั้งรูปสิงห์และช้างตลอดจนรูปอสูรและเทพลอยตัว เป็นปราสาทที่มีชื่อเสียงแห่งหริหราลัย

จุดน่าสนใจคือเป็นวัดสไตล์ Temple mountain ที่สร้างด้วยหินทรายแห่งแรกของอาณาจักรเขมร เป็นปราสาทหินในกลุ่มปราสาทโลเลย นับเป็นปราสาทในยุคแรกๆ ของอาณาจักรขอม เป็นวัดประจำรัชกาลของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีโครงสร้างหลักเป็นศิลาแลง และตกแต่งด้วยหินทราย ยอดทรงพีระมิด 5 ชั้น จำลองรูปเขาพระสุเมรุ เพื่อสักการะพระศิวะ ล้อมด้วยคูชั้นนอก และคูชั้นใน ปัจจุบันคูทั้งสองตื้นเขิน คงเหลือเพียงขั้นบันได ศูนย์กลางของปราสาทเป็นพีระมิด ประติมากรรมที่สำคัญในปราสาทนี้คือสิงโตที่เฝ้าบันไดทางขึ้น ประติมากรรมช้างที่หันหน้าออกไปยังปราสาทแม่บุญตะวันออก รูปสลักนูนต่ำรูปอสูร และรูปสลักเทวทัศลอยตัวที่มุม

อีกหนึ่งปราสาทที่ไม่อยากให้พลาด เพราะขณะนี้กัมพูชากำลังยื่นเรื่องต่อยูเนสโกเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้กับปราสาทเบ็งเมเลียครับ

ปราสาทเบ็งเมเลีย (Beng Mealea Temple) เป็นมหาปราสาทยิ่งใหญ่ มีสถาปัตยกรรมลวดลายที่โดดเด่น มีขนาดและลักษณะใกล้เคียงกับนครวัด จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “นครวัดตะวันออก” ลักษณะสถาปัตยกรรมและรูปแบบศิลปกรรมของปราสาทเบ็งเมเลีย แสดงเรื่องราวอวตารในแต่ละภาคของพระวิษณุ โดยถูกนำมาถ่ายทอดลงบนภาพสลักหินในแบบศิลปะผสมผสาน ที่มีเอกลักษณ์ในยุคสมัยเดียวกับนครวัด แต่ที่เบ็งเมเลียจะมีความละเอียดและพิถีพิถันในการแกะสลักมากกว่า แต่น่าเสียดายที่ตัวปราสาทถูกทำลายในช่วงสงครามกลางเมืองของชาวกัมพูชา นักรบเขมรแดงใช้ปราสาทแห่งนี้เป็นหนึ่งในที่มั่น เมื่อฝ่ายตรงข้ามทิ้งระเบิดมาจึงถูกตัวยอดปราสาท ทำให้พังถล่มลงมาในที่สุด ปัจจุบันเราจึงได้เห็นเพียงซากปรักหักพังของปราสาท

ทางเข้าด้านหน้าทั้ง 4 ทิศ ทำเป็นสะพานนาคราชหรือสะพานสายรุ้ง ข้ามคูน้ำที่มีความหมายถึงสีทันดรมหาสมุทร ว่ากันว่านาคที่นี่สวยและสมบูรณ์ที่สุดในศิลปะนครวัด

โคปุระทางทิศใต้ ยอดปราสาทถล่มลงมาเป็นกองหิน

ทับหลังเป็นรูปบุคคลนอนในบึงบัว ซึ่งคาดว่าเป็นที่มาของชื่อปราสาทเบ็งเมเลีย โดยคำว่าเบ็งเมเลีย แปลว่า บึงน้ำดอกไม้หอมครับ

ทับหลังประตูกลางเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เทพเจ้าประจำทิศตะวันออก

เสน่ห์ของปราสาทเบ็งเมเลีย คือเป็นปราสาทที่สร้างอยู่กลางป่า มีรากต้นไม้ขึ้นตามตัวปราสาท มีซากหินกองอยู่เกลื่อนกลาด เพิ่มความลึกลับ น่าค้นหามากๆ ครับ

ลักษณะสถาปัตยกรรมและรูปแบบศิลปกรรมของปราสาทเบ็งเมเลีย ล้วนแต่แสดงเรื่องราว อวตารในแต่ละภาคของพระวิษณุ โดยเฉพาะ พระกฤษณะ มหาภารตะ รามายณะ และเรื่องราวของ ตรีมูรติจากเหล่าคัมภีร์ปุราณะ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดลงสู่ภาพสลักในศิลปะ ผสมผสานที่มีเอกลักษณ์ ในยุคสมัยเดียวกับนครวัด แต่ก็มีความแตกต่างในรายละเอียด

ทับหลังรูปพระกฤษณะสังหารนาคกาลียะ วางนอนอยู่ใกล้กองหิน ดูมีเสน่ห์และสวยงามด้วยศิลปะผสมผสานทั้งบาปวน นครวัดและเบ็งเมเลีย

อีกหนึ่งปราสาทที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือปราสาทบันทายศรีครับ

ปราสาทบันทายศรี (Banteay Srei Temple) เป็นปราสาทขนาดเล็กที่สร้างจากหินทรายสีชมพูเนื้อละเอียด ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัตนชาติแห่งศิลปะเขมร เพราะรวบรวมเอางานช่างศิลปะจากหลากหลายยุคเข้าไว้ด้วยกัน แม้จะสร้างขึ้นมาตั้งแต่ 1,000 ปีที่แล้วก่อนปราสาทนครวัด แต่ยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ลวดลายแกะสลักอันอ่อนช้อยที่ถ่ายทอดเรื่องราวของรามายณะ และการบูชาพระศิวะ ยังคงคมชัด ละเอียด และมีการเปรียบเทียบที่นี่เท่ากับความงามของสตรี

ปราสาทแห่งนี้สร้างอุทิศถวายพระอิศวรภายใต้พระนามว่า "ตรีภูวนมเหศวร" หรือ "ผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสาม" ปราสาทมีขนาดเล็ก สร้างด้วยหินทรายสีชมพูซึ่งหายาก สร้างขึ้นเมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 1510 โดยพราหมณ์ยัชญวราหะ ในตอนปลายของรัชสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 พ.ศ. 1487 - 1511) และเสร็จในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1554) พระราชโอรสที่ขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา

บริเวณซุ้มประตูด้านหน้า มีการจำหลักภาพอย่างอ้อนช้อยงดงาม

เดินผ่านซุ้มประตูเข้าไป จะพบเสานางเรียงขนาบทางเดินครับ

บริเวณซุ้มประตูซ้ายมือมีภาพจำหลักภาพพระอิศวรทรงโค มีพระอุมาเทวีประทับด้านซ้าย

โคปุระชั้นในมีขนาดใหญ่ เลียนแบบหลังคาเครื่องไม้ ปั้นลมสูงใหญ่

ปราสาทบันทายศรี มีขนาดเล็กกว่าปราสาทอื่นๆ ที่ไปเยี่ยมชมมาเยอะเลยครับ

ผ่านประตูเข้าไปจะเห็นปราสาทองค์แรก สร้างอยู่เหนือฐานเดียวกันซึ่งสูง 90 เซนติเมตร ในกรอบซุ้มปราสาทองค์แรก มีรูปพระศิวะกำลังร่ายรำ หรือที่เรียกว่า ศิวนาฏราช ท่ารำของพระองค์มีถึง 108 ท่า แต่ละท่ามีผลต่อฟ้าดิน

ปราสาทองค์แรกถูกขนาบด้วยบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาตำราหรือวัตถุที่ใช้ในพิธีเคารพบูชา มีประตูเข้าทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซุ้มประตูหรือโคปุระนี้ ประดิษฐานประติมากรรมด้วยลวดลายที่งามวิจิตรอ่อนช้อย

ภาพสลัก ณ ปราสาทบันทายศรี นอกจากความงดงามในฝีมือการสลักแล้ว ยังมีคุณค่าเกี่ยวกับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง อันเห็นได้จากความรู้สึกที่แสดงออกมาจากภาพเหล่านั้น ซึ่งเป็นพยานหลักฐานชิ้นแรกที่ทำให้เราทราบเกี่ยวกับชีวิตของชาวขอมในต้นพุทธศตวรรษที่ 16

ทวารบาลหรือผู้รักษาประตูที่ปราสาทบันทายศรี มี 3 ประเภท ประกอบด้วย ทวารบาลประเภทเทพยดา ทวารบาลประเภทสัตว์ และทวารบาลประเภทอสูรครับ

โดยทวารบาลประเภทเทพยดา จะมีนางอัปสราและเทวดาครับ

ที่ข้างกรอบประตูของปรางค์องค์เหนือและปรางค์องค์ใต้ จะมีรูปสลักนางอัปสรายืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เป็นศิลปะแบบบันเตียซเร็ย ซึ่งนิยมให้นางอัปสราและเทวดายืนในซุ้มเรือนแก้ว โดยรูปสลักแกะได้ลึกจนเกือบจะเป็นภาพลอยตัว นางอัปสราแต่ละนางจะเกล้าผมไว้เรียบๆ มีต่างหูประดับฝีมือประณีต ตุ้มหูคล้ายพวงอุบะหรือมาลัยยาวเสมอไหล่ มือจับจีบดอกบัว ใส่กำไลทั้งมือและเท้า สวมผ้ามีกระเปาะจีบอยู่ด้านหน้า รอบๆ สะโพกมีลายคล้ายดวงดอกไม้ ประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ดูสวยงาม จนได้รับสมญาว่า “โมนาลิซ่าแห่งเอเซีย”

ส่วนทวารบาลรูปเทวดา จะทำผมชฎามงกุฎทรงกระบอก เปลือยกายท่อนบน ไม่สวมเสื้อ และเครื่องประดับนุ่งผ้านุ่งเรียบ ถืออาวุธแนบกาย อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว ทำหน้าที่เป็นผู้ปกปักรักษาเทวสถานครับ

เหนือบันไดขึ้นปรางค์ทั้งสามองค์ จะมีทวารบาลรูปสัตว์ ซึ่งเป็นรูปสลักแบบลอยตัวนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งเฝ้าอยู่สองข้างประตู ลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ โดยส่วนศรีษะจะเป็นรูปสัตว์ และส่วนลำตัวจะเป็นรูปมนุษย์ครับ

ปรางค์องค์เหนือเป็นทวารบาลรูปครุฑ สันนิษฐานว่าเป็นปรางค์ของพระวิษณุ

ส่วนปรางค์องค์ใต้มีทวารบาลรูปสิงห์ ปรางค์องค์นี้จึงน่าจะเป็นของนางทุรคา

ส่วนปรางค์องค์นี้มีทวารบาลรูปลิงครับ

และยังมีทวารบาลประเภทอสูร ในภาพของทวารบาลรูปยักษ์ ประดับอยู่บริเวณขั้นบันไดเช่นเดียวกับทวารบาลรูปสัตว์ โดยมีลักษณะทรงผมขดเป็นก้นหอยคล้ายกระบังหน้า หน้าตาแลดูเคร่งขรึม ดุร้าย ลูกตาโปน และมีเขี้ยว

ทวารบาลรูปสัตว์และรูปอสูรถูกขโมยไปเกือบหมด ที่เหลืออยู่และบางส่วนที่ถูกจับได้ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงพนมเปญ ส่วนรูปที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันเป็นของจำลองครับ

ปราสาทบันทายศรีประกอบด้วยบรรณาลัย 2 หลัง วิมาน 3 หลังบนฐานเดียวกัน ขนาดไม่ใหญ่โตมาก

ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าปราสาทบันทายศรี จะผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 1,000 ปีแล้ว เพราะลวดลายแกะสลักต่างๆ ยังดูคมชัดสวยงาม เหมือนกับเพิ่งสร้างเสร็จมาไม่กี่ปี คำว่า “บันทายศรี” ถ้าเรียกตามภาษาเขมรแล้วต้องออกเสียงว่า “บันเตียซเร็ย” มีความหมายว่า เทวาลัยแห่งสตรี ซึ่งก็แลดูสมชื่อเพราะตัวปราสาทมีหินทรายสีออกชมพูเนื้อละเอียดนั่นเอง ที่นี่เป็นปราสาทหินที่ถือได้ว่างดงามที่สุดในประเทศกัมพูชา แต่ละกรอบซุ้มปราสาท มีการสลักภาพ พระศิวะ พระอิศวร พระอินทร์ พระกฤษณะ รวมถึงเทพเจ้าต่างๆ และเหล่าทวารบาลต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นการแกะสลักประดับบนผนังอย่างวิจิตรบรรจงจนดูเหมือนมีชีวิตจริงๆ

สำหรับสายลุยที่มีหัวใจสีเขียว ผมไม่อยากให้พลาดไปเที่ยวชม “กบาลสเปียน” หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า สหัสลึงค์ สายน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ศิวลึงค์ใต้น้ำบนเขาพนมกุเลนครับ การที่จะไปชมต้นกำเนิดความศักดิ์สิทธิ์ของลำน้ำสายนี้ ต้องแลกมากับกำลังขาของเรา ที่จะต้องเดินขึ้นเขาในระยะทางประมาณ 1,500 เมตร เส้นทางไม่สูงชันมากครับ เดินเล่นชมวิวชิลล์ๆ ไป แป๊บเดียวก็ถึง

กบาลสเปียน (Kbal Spean) แม่น้ำพันศิวลึงค์ เป็นแนวก้อนหินธรรมชาติที่มีการสลักภาพต่างๆ ตามศิลปะแบบบาปวน เราจะพบภาพสลักอย่าง ศิวลึงค์ โยนี ที่ทอดยาวกว่า 400 เมตรบนพื้นลำธาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 โดยมีพระประสงค์เพื่อให้พราหมณ์ประกอบพิธีเสกน้ำให้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อนำน้ำไปประกอบพิธีหลวงในพระราชวัง ในคติฮินดู นิกายไศวะ การจะเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ต้องทำในเทวาลัยที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ โดยพราหมณ์จะนำน้ำมาราดบนศิวลึงค์และน้ำที่รดนั้นจะไหลออกไปที่ช่องโยนี ลงไปทางท่อโสมสูตรให้ผู้คนที่มารองรับน้ำนี้ไปดื่มกิน ด้วยเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และยังนำไปใช้กับไร่นาเพื่อผลผลิตที่สมบูรณ์ การประกอบพิธีด้วยการทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ กระทำไม่บ่อยนักเพราะต้องอาศัยฤกษ์ยาม อีกทั้งน้ำมนต์ที่ได้มีปริมาณไม่มากนัก ในขณะที่ชาวเมืองต่างพากันมารองรับน้ำกันมากมาย แจกจ่ายกันไม่ทั่วถึง พระองค์จึงเกิดความคิดทำให้แม่น้ำกลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงสร้างศิวลึงค์อยู่ใต้น้ำเสียเลย เมื่อน้ำไหลผ่านรูปแกะสลักศิวลึงค์ใต้น้ำ ก็กลายเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ หมดปัญหาเรื่องการแจกจ่ายไม่ทั่วถึงไปได้
ธารน้ำสายนี้ไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ แยกไหลเป็นสายย่อยเลาะรอบเมืองพระนครก่อนที่จะไหลรวมกับแม่น้ำเสียมเรียบด้านล่าง ก่อนที่จะไหลลงทะเลสาบโตนเลสาบในที่สุด และเพื่อให้แม่น้ำสายนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกับน้ำที่ไหลผ่านศิวลึงค์และโยนี ที่ชาวขอมนับถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู จึงต้องสลักองค์เทพต่างๆ อย่างนารายณ์บรรทมสินธุ์ ภาพพระศิวะ พระพรหม พระวิษณุ และเทพองค์อื่นๆ อีกมากมายอยู่ใต้น้ำในบริเวณเดียวกันด้วย

กบาลสเปียน เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อ ค.ศ.1968 โดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ปอล บัวลิเย่ เขาได้ตั้งสมยานามสายธารปริศนาแห่งนี้ว่า “The River of the Thousand Lingar” แปลว่า แม่น้ำที่มีหินศิวลึงค์สลักอยู่ใต้น้ำเป็นจำนวนนับพันๆองค์

ไม่ไกลจากจุดที่พบศิวลึงค์ใต้น้ำไปตามท้ายน้ำ ยังพบการสลักลวดลายบนก้อนหินใหญ่หลายรูปเลยครับ นอกจากนั้นยังมีน้ำตกเล็กๆ ให้เล่นคลายร้อนได้ด้วย

สำหรับการเข้าชม ปราสาทนครวัด ปราสาทต่างๆ ในนครธม รวมถึงปราสาทรอบนอกที่ผมพาชมมาทั้งหมดนั้น สามารถใช้บัตรเข้าชมได้ภายในบัตรเดียว โดยบัตรจะมีให้เลือก 3 ประเภท คือ

- One-day pass: 37$ (ซื้อวันนั้น เที่ยววันนั้น)
- Three-day pass: 62$ (เที่ยว 3 วันไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องติดกัน แต่ต้องภายในช่วง 1 สัปดาห์)
- One-week pass: 72$ (เที่ยว 7 วันไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องติดกัน แต่ต้องภายในช่วง 1 เดือน)

การซื้อบัตรทั้ง 3 ประเภท หากซื้อบัตรหลังเวลา 16.45 น. เราจะสามารถเที่ยวชมปราสาทในวันที่เราซื้อบัตรได้ โดยยังไม่ถือว่าเป็นการเริ่มใช้บัตรที่เราซื้อ ส่วนใหญ่ปราสาทต่างๆ จะปิดเวลา 17.30 น. ซึ่งจากจุดจำหน่ายบัตรไปยังปราสาทต่างๆ ก็เกือบหมดเวลาเข้าชมแล้ว แต่จะมีปราสาทพนมบาเค็ง ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชมถึงเวลา 18.30 น. นักท่องเที่ยวจึงนิยมขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกบนพนมบาเค็ง หรือไม่ก็ขับรถเที่ยวชมบรรยากาศในเมืองนครธมครับ

จุดจำหน่ายบัตรเที่ยวนครวัด ไม่ได้อยู่ที่หน้านครวัดนะครับ เราจะต้องไปซื้อบัตรที่ Angkor Park Pass Ticket Counters ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบประมาณ 5 กม.และอยู่ห่างจากนครวัดประมาณ 7 กม.ครับ โดยเราจะต้องลงไปซื้อบัตรด้วยตัวเอง เนื่องจากจะต้องถ่ายรูปลงในบัตรด้วย

ราคาบัตรอาจจะดูแพง แต่บัตรหนึ่งใบสามารถเที่ยวชมได้หลายแห่งมาก สุดแล้วแต่กำลังและเวลาที่เรามี รายได้จากการขายบัตร ส่วนหนึ่งใช้บูรณะปราสาท รวมถึงใช้เป็นค่าจ้างเจ้าหน้าที่ที่คอยประจำสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็มีหลากหลายหน้าที่จริงๆ ตั้งแต่คอยตรวจตั๋ว/อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว/รักษาความสะอาดรอบๆ ปราสาท รวมถึงความสะอาดในห้องน้ำด้วย บอกเลยว่าปราสาทแต่ละแห่ง รวมถึงห้องน้ำแต่ละจุด สะอาดมากครับ อ้อ บัตรที่เราซื้อ สามารถใช้เข้าห้องน้ำได้ฟรีนะครับ

หากไปเที่ยวกบาลสเปียนแล้ว ถ้ายังพอมีเรี่ยวแรงเหลือ แนะนำให้ไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติพนมกุเลนกันต่อนะครับ เพราะที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายจุด มีโบราณสถานกว่า 400 แห่ง ปราสาท 52 แห่ง นอกจากนี้ยังมีหน้าผาต่างๆ มากมาย บอกเลย..การเข้าไปเที่ยวในแต่ละจุดมันส์หยดติ๋งกันเลยทีเดียว

เทือกเขาพนมกุเลน เป็นต้นธารแห่งลำน้ำที่ไหลมาหล่อเลี้ยงเมืองเสียมเรียบ และยังเป็นแหล่งตัดหินขนาดมหึมาที่นำมาสร้างมหาปราสาทนครวัด นครธมและเทวาลัยอีกกว่า 200 แห่ง นับเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งกำเนิดของอาณาจักรอังกอร์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ค.ศ. 770–835) ทรงประกาศเอกราชและสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงสร้างเมืองหลวงมเหนทรบรรพต “ภูเขาของพระอินทร์ผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในศตวรรษต่อมา

อย่างที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรกแล้วว่า บนพนมกุเลนมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายจุดมาก แต่ผมขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแบบสบายๆ กันก่อน เรียกได้ว่าจอดรถแล้วเดินเท้าต่อไม่ถึง 100 เมตร ก็ถึงจุดหมายแรก นั่นคือ One Thousand Linga ครับ

น้ำที่ไหลลงมาจากภูผาอันถือว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ความจริงก็กล่าวได้ว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว แต่เพื่อแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันสูงส่งเป็นที่สุดต่อองค์ศิวะเทพ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จึงโปรดย้ายเส้นทางไหลของลำธารเสียมเรียบชั่วคราวและให้ช่างแกะสลักรูปศิวลึงค์บนฐานโยนีไว้บนพลาญหินพื้นลำธารนับ 1,000 องค์กระจายอยู่หลายจุดบนเขาพนมกุเลน จุดใหญ่ที่สุดมีภาพศิวลึงค์เต็มพื้นลำธารซึ่งมีความกว้างราว 6 เมตร แกะตลอดเป็นระยะทางราว 100 เมตร ฐานโยนีมีขนาดตั้งแต่ 1 × 1 ฟุต ไปจนถึง 1 × 1 เมตร ส่วนแท่งศิวลึงค์ใช้วิธีแกะลึกลงไปในหินพื้นลำธาร จึงมีความสูงแค่ราว 3 นิ้วถึง 6 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางราว 2.5 นิ้วถึง 5 นิ้ว เมื่อเปิดให้น้ำในลำธารไหลผ่านจึงเสมือนมีน้ำมนต์ไหลรินรดแท่งศิวลึงค์ผ่านร่องโยนี ดังมีการเซ่นสรวงองค์ศิวะเทพอยู่ชั่วนาตาปี และไม่เพียงทำให้น้ำในลำธารที่ไหลผ่านศิวลึงค์เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ทว่า สหัสลึงค์เหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจอันเกรียงไกรของพระองค์ว่าจะดำรงยงยืนอยู่ตราบเท่าขุนเขาไม่สลาย สายน้ำไม่เหือดแห้ง ดังนั้น หากศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์แห่งพระศิวะ พระองค์ก็คือจุติแห่งองค์ศิวะเทพและพระองค์ยังทรงเชื่ออีกว่าเมื่อถึงแก่การสวรรคต ดวงพระวิญญาณของพระองค์จะกลับคืนไปหลอมรวมเป็นดวงเดียวกับพระศิวะบนสรวงสวรรค์ชั้นเขาไกลลาศ

องค์ศิวลึงค์นับพันจุดนี้สร้างตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 (ราว ค.ศ.802) ก่อนสร้างกบาลสเปียนเสียอีก ที่ตั้งของทั้งสองจุดอยู่คนละลำน้ำกัน ลำน้ำสายนี้จะไหลจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ผ่านน้ำตกพนมกุเลน และจะไหลไปรวมกับลำน้ำของกบาลสเปียนในเขตอำเภอบันทายศรี ก่อนจะไหลลงแม่น้ำเสียมเรียบและไหลลงโตนเลสาบตามลำดับ

นอกจากศิวลึงค์และโยนี ยังมีภาพสลักของนารายณ์บรรทมสินธุ์ด้วยครับ

ตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ศิวลึงค์ คืออวัยวะเพศชาย และฐานโยนีที่ล้อมรอบศิวลึงค์ คืออวัยวะเพศหญิง โดยเชื่อกันว่าตราบใดที่อวัยวะทั้งสองอย่างนี้ หากยังอยู่ด้วยกัน ตราบนั้นโลกจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองครับ

และหากเราเดินเท้าต่อเข้าไปตามเส้นทางอีกสักประมาณ 150 เมตร เราจะพบกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยเหือดแห้ง โดยบ่อน้ำนี้จะมีน้ำผุดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา จากนั้นจะไหลลงสู่ลำธาร นับเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเสียมเรียบซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์เขมรโบราณ เพราะตลอดระยะทางจากพนมกุเลนไปยังเสียมเรียบ จะใช้แม่น้ำเสียมเรียบในการลำเลียงหินที่สกัดจากแหล่งตัดหินทรายในพนมกุเลนเพื่อไปใช้ในการก่อสร้างปราสาทต่างๆ ในเสียมเรียบครับ

ศิวลึงค์ใต้น้ำนับพัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ปฐมกษัตริย์ยุคเมืองพระนคร ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อให้แม่น้ำที่ไหลลงมาจาก "พนมกุเลน" เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับแม่น้ำคงคาที่ไหลลงมาจากเทือกเขาหิมาลัยที่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของเขาไกลาส

ไปเที่ยวแบบสบายๆ มาแล้ว จุดต่อไปผมจะพาลัดเลาะไปตามเลือกสวนของชาวบ้าน ทะลุเข้าไปในป่าหิมพานต์ เพื่อไปสำรวจเมืองโบราณมเหนทรบรรพต นครที่หายสาบสูญไปตามจารึกโบราณ การจะเข้าถึงเมืองโบราณนี้ รถใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง หากจะเดินเท้าเข้าไปคงจะหนักหนาสาหัส แต่ไม่ต้องกังวล เพราะการเที่ยวในจุดนี้ จะมีเครื่องทุ่นแรงอย่างมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ที่จะพาเราเข้าไปสัมผัสความลึกลับพิศวงในเมืองโบราณแห่งนี้แบบไม่ต้องเหนื่อยเลย แต่อาจจะมีความเสียวๆ และต้องเกร็งขากันตลอดเวลาที่นั่งอยู่บนมอเตอร์ไซด์เท่านั้นเอง

ขอเตือนเลยว่าตลอดระยะเวลาที่นั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์ต้องมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวตลอด เพราะเส้นทางจัดว่าโหดเลยทีเดียว ลัดเลาะไปตามเส้นทางเล็กๆ ที่วกไปวนมา แถมบางช่วงเป็นทางลาดชัน ถนนก็มีสลับกันไปทั้งแผ่นหิน ผืนทราย ขี้เลน แต่ก็สนุกและตื่นเต้นมากๆ มีให้ได้ลุ้นตลอดทางว่าจะไปรอดถึงฝั่งฝันไหม

จุดแรกขอแวะพักกลางทางที่ถ้ำค้างคาวกันก่อน โดยสมัยก่อนคนที่มีวิชาจะเรียนวิชาอยู่ที่ในถ้ำคางคาวแห่งนี้ ตอนที่ผมไปก็ยังพบฤๅษีมานั่งบำเพ็ญตบะด้วย มีการแกะสลักยันต์ไว้ที่ด้านหน้าทางเข้าถ้ำด้วยครับ

ภายในถ้ำไม่ลึกมาก มีรูปปั้นเทพ มีการนำบายศรีมาตั้งเพื่อประกอบพิธีกรรม

ด้านในจะมีบ่อน้ำเล็กๆ ที่เกิดจากการรองน้ำที่หยดลงมาจากหินย้อย ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน

จากถ้ำค้างคาว ผมนั่งเกร็งแขนเกร็งขาต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง จนคนขับจอดรถให้ลงเดิน ผมเดินเท้าต่อไปนิดเดียว ก็มาพบกับ สระดำเรย หรือ สระน้ำช้าง (Elephant Pond-Srah Damrei) 1 ใน 400 โบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติพนมกุเลนครับ

หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงรวบรวมอาณาจักรเขมรเป็นปึกแผ่นแล้ว พระองค์ได้ประกาศเอกราชไม่ขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัย ณ ที่แห่งนี้

แม้เวลาจะผ่านมากว่า 1,200 ปี แต่รูปสลักหินช้างสูง 3 เมตร ยาว 4 เมตร ซึ่งสลักจากหินก้อนใหญ่ทั้งก้อน รวมทั้งรูปสลักสัตว์ต่างๆ อย่างสิงโต เสือ และวัว ยังคงยืนตระหง่าน ทำหน้าที่ประหนึ่งผู้พิทักษ์ภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ มิให้ใครเข้ามากล้ำกรายได้

เบื้องหน้าของรูปสลักช้างมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งในบ่อน้ำนี้ไม่เคยแห้งเลยตลอดทั้งปี เพราะจุดนี้มีตาน้ำไหลออกมาอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านในแถบนี้เชื่อกันว่านี่คือน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถนำไปดื่มกินเพื่อรักษาโรคได้ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการก่อศิลาแรงที่มีลักษณะคล้ายขอบสระใช้สำหรับการกักเก็บน้ำ ทำให้เชื่อว่าที่นี่อาจจะเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมในอดีต

สระน้ำช้างขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ชาวกัมพูชา รวมถึงชาวไทย ลาว และพม่า ต่างนิยมเดินทางมากราบไหว้ขอพร เกี่ยวกับเรื่องโชคลาภ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมถึงขอให้โรคภัยไข้เจ็บหายเป็นปกติ

จากสระน้ำช้าง นั่งมอเตอร์ไซด์ต่อ ผ่านป่า (มะม่วง) หิมพานต์ คืออยากจะบอกว่า กลิ่นของมะม่วงหิมพานต์มันหอมเตะจมูกจริงๆ ครับ ไม่นานนักก็มาถึงปราสาทดำเรยกราบครับ

ปราสาทดำเรยกราบ (ช้างกราบ) (Damrei Krab Temple) ประกอบด้วยอาคารสามหลัง คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย เนื่องจากภายในปราสาทยังพบฐานโยนีตั้งอยู่ ปราสาทแห่งนี้คาดว่ามีมาก่อนยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 และนับเป็นปราสาทในศิลปะจามเพียงแห่งเดียวที่ปรากฏอยู่ที่นี่ ปราสาทดำเรยกราบจึงแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรเขมรกับอาณาจักรจามไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นการตั้งถิ่นฐานของชาวจามบนพนมกุเลนหรือความสัมพันธ์ทางศาสนา รวมทั้งงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมระหว่างทั้งสองอาณาจักร

ปราสาทแห่งนี้เคยถูกขุดทำลายฐานรากจากพวกลักลอบหาวัตถุโบราณ เหลือปราสาทที่เหลืออยู่ในสภาพสมบูรณ์เพียงหลังเดียว ส่วนที่ขนาบข้าง 2 หลังได้พังไปแล้ว

ปราสาทดำเรยกราบมีลักษณะเฉพาะตัวคือด้านยอดปรางค์มีศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะกุเลนและศิลปะจามปา มีลวดลายแกะสลักบนอิฐมอญที่งดงาม

เหตุที่ปราสาทแห่งนี้ชื่อดำเรยกราบ หรือ ช้างกราบ ก็เพราะบริเวณฐานขององค์ปรางค์ยังมีร่องรอยของรูปสลักช้างหมอบตัวอยู่นั่นเอง

ทับหลังปราสาทดำเรยกราบหลงเหลืออยู่เพียงเท่านี้

ไม่ไกลจากปราสาทดำเรยกราบ เป็นที่ตั้งของ ปราสาทพระอารามโรงเจิน (Rong Chen Temple) เป็นปราสาทตั้งอยู่บนฐาน 5 ชั้น ที่สร้างขึ้นจากศิลาแลง นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าปราสาทนี้เป็นปราสาทประจำรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 บนเทือกเขาพนมกุเลน ที่พระองค์ท่านได้ทำพิธีเทวราช ยกระดับกษัตริย์ให้อยู่เหนือคณะพราหมณ์ มีอำนาจสูงสุด เป็นสมมุติเทพที่อวตารมาเป็นมนุษย์ และมาปกครองโลกมนุษย์ด้วย

ปัจจุบันแทบจะไม่เห็นโครงร่างของปราสาทแล้ว คงเหลือฐานศิวลึงค์ที่ตั้งให้เห็นอยู่ด้านบนเท่านั้น การที่สร้างปราสาทเป็นชั้น คงเป็นความพยายามในการจำลองเขาไกรลาส ที่ประทับของพระศิวะครับ

และจุดสุดท้าย ขอพาชมเปิงตบาล

ไม่มีการก่อสร้างปราสาทใดๆ ขึ้นที่ เปิงตบาล (Peung Tbal) แต่ที่นี่กลับเต็มไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ หินเหล่านี้ที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถาน เนื่องจากมีการพบภาพสลักเทพเจ้าจำนวนมาก นับเป็นโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่บูชาต่อพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ นอกจากนี้ยังมีเทพอื่นๆ อย่างพระพิฆเนศวร พระสกันฑกุมาร มาผสมผสานด้วย

ในบริเวณนี้มีภาพแกะสลักเทพเจ้าจำนวนหนึ่งเรียงรายอยู่ตามเพิงผา มีพันธุ์ไม้เล็กๆ เจริญเติบโตอยู่ตามก้อนหิน ดูชุ่มชื่นมากๆ นอกจากนี้ยังมีแหล่งตาน้ำที่มีน้ำไหลซึมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมในอดีต

ที่เปิงตบาล ยังพบภาพแกะสลักรูปเทพเจ้าปรากฏอยู่ตามเพิงผาอีกหลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในอดีต

มีฐานโยนีที่พบในบริเวณนี้ แสดงถึงการดัดแปลงเพิงผาให้เป็นศาสนสถานของคนในยุคโบราณได้อย่างลงตัว

คำว่า “เปิง” แปลว่าหน้าผา “ตบาล” แปลว่า ครก โดยรวม “เปิงตบาล” จึงแปลว่า “ครกหิน” เหตุที่ได้ชื่อนี้มาเนื่องมาจากมีการพบหินที่มีลักษณะเหมือนครก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นครกที่คณะพราหมณ์ใช้ในบดยา ผสมกับสมุนไพรต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษาสุขภาพและใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ด้วย

หลังออกจากเมืองโบราณมเหนทรบรรพต นครที่หายสาบสูญแล้ว มอเตอร์ไซด์จะพามาส่งที่วัดพระองค์ธม หรือวัดพระองค์ใหญ่ ซึ่งอยู่บนยอดสูงสุด พระพุทธรูปนี้เดิมทีเป็นก้อนหินขนาดใหญ่และถูกแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขึ้นจากหินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว พระพุทธรูปนี้มีความยาวประมาณ 10 เมตร หันหน้ามาทางเสียมเรียบ เชื่อกันว่าท่านจะได้ดูแลเมืองเสียมเรียบ การขึ้นไปชมนั้นต้องปีนบันไดสูงสิบกว่าเมตรไปยังโบสถ์ลอยฟ้า ที่สร้างขึ้นไว้คลุมองค์พระ และยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม เห็นผืนป่าเขียวชอุ่ม ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า พระพุทธรูปนี้ถูกสร้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนศาสนาจากพราหมณ์-ฮินดู มาเป็นพุทธเถรวาท หรือว่าสร้างก่อนสมัยอังกอร์กันแน่

ข้อแตกต่างระหว่างปางไสยาสน์กับปางปรินิพพาน คือ ปางไสยาสน์จะใช้พระหัตถ์ซ้ายรับพระเศียร แต่ถ้าพระหัตถ์ขวารับพระเศียร จะเป็นปางปรินิพพานครับ

บริเวณตีนยอดเขาที่ประดิษฐานพระนอน จะมีรอยพระพุทธบาทด้วยครับ

บนเทือกเขาพนมกุเลน นอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างน้ำตกพนมกุเลน น้ำตกสวยๆ ที่ไม่อยากให้พลาดครับ ตัวน้ำตกมี 3 ชั้น ชั้นที่สวยจะต้องเดินลงไปตามบันไดเหล็ก เส้นทางเดินง่าย แต่จะชันสักนิดในระยะสั้นๆ ประมาณสัก 100 เมตร กัดฟันกันสักนิด ทนเหนื่อยกันสักหน่อย รับรองว่าถ้าได้เห็นผืนน้ำตกแล้ว จะหายเหนื่อยในทันทีครับ ที่สำคัญน้ำของน้ำตกสายนี้เป็นน้ำที่ไหลผ่านศิวลึงค์นับพันองค์ที่จมอยู่ใต้ลำธาร คนที่ไปเล่นน้ำตกก็เหมือนได้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยครับ

การเที่ยวชมในเทือกเขาพนมกุเลนนี้ มีค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติพนมกุเลน คนละ 20$ โดยเปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเท่านั้น เนื่องจากถนนที่จะขึ้นไปบนเขาพนมกุเลนค่อนข้างแคบ จึงต้องกำหนดรอบการขึ้น-ลง เขา โดยช่วงเช้าถึงเที่ยง จะอนุญาตให้รถขึ้นไปเที่ยวด้านบนได้ ส่วนช่วงบ่ายจะปล่อยให้รถจากด้านบนกลับลงมาครับ

สำหรับใครที่ต้องการเข้าไปชมเมืองโบราณมเหนทรบรรพต จะมีค่ารถมอเตอร์ไซด์อีกคนละ 15$ รถ 1 คัน นั่งซ้อนได้คนเดียวครับ

ขณะนี้กัมพูชากำลังยื่นเรื่องต่อยูเนสโกเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้กับอุทยานเทือกเขาพนมกุเลนด้วยครับ

ใครที่มีวันท่องเที่ยวในกัมพูชาเหลือ อยากแนะนำให้ไปเที่ยวที่ เปิงกมนูว์ (Poeung Komnou) แห่งมเหนทรบรรพตกันครับ เส้นทางที่จะเข้าไปยังเปิงกมนูว์ อาจจะลำบากสักหน่อย จะเอารถยนต์เข้าก็หนักหนาสาหัส จะเดินเท้าเข้าไปก็ไกลโขอยู่ แต่ถ้าหากต้องการประหยัดพลังงานตัวเอง คงต้องจ้างรถอีแต๊กให้พาเข้าไปด้านใน อาจจะมีบ้างที่ต้องใช้พลังกายของเราช่วยกันดันรถอีแต๊กไปด้วย นั่งรถหัวสั่นหัวคลอนกันประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดหมายครับ (ค่าเหมารถอีแต๊ก ประมาณ 25-30$)

ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 การสร้างรูปศิวลึงค์เพื่อบูชาพระศิวะตามคติไศวะนิกาย แพร่หลายเป็นอย่างมาก ครั้นต่อมาศรัทธาและความเชื่อในแบบไศวนิกายได้เสื่อมถอยลง จนในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 คติความเชื่อแบบไวษณพนิกายและตรีมูรติ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อคติความเชื่อและงานศิลปะเขมรโบราณเป็นอย่างมาก และปรากฏงานศิลปะในเรื่องราวของพระวิษณุในอวตารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และที่ เปิงกมนูว์ อาจจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงคติการปฏิบัติที่เห็นได้ชัดในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะที่เปิงกมนูว์พบกลุ่มภาพแกะสลักบนเพิงหินถึง 3 จุด และเพิงหินแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณแนวเขาของที่ราบสูงบนพนมกุเลนครับ

ขอเริ่มที่ภาพสลักหินบริเวณนี้ก่อนนะครับ ภาพชุดนี้เป็นภาพสลักของเหล่าเทพเจ้าบนเพิงหินก้อนใหญ่ ปรากฏภาพบุคคลขนาดใหญ่ 4 รูป สลับกับรูปเทวีขนาดครึ่งหนึ่งของรูปใหญ่ 3 รูป นอกจากนั้นยังมีภาพสลักของฤๅษี กำลังบำเพ็ญตบะในท่าโยคะสนะ จำนวน 7 รูป ที่กำลังแสดงการบูชาสักการะเหล่าเทพเจ้า ขนาบข้างด้วยสิงห์ทวารบาลปิดหัวปิดท้ายครับ

โดยรูปบุคคลทั้ง 4 นั้น บุคคลที่ 2 จากซ้าย มีพระเนตรที่สาม ตรงพระนลาฏ (หน้าผาก) หมายถึง พระศิวะ และบุคคลที่ 3 จากซ้าย มี 4 กร เป็นลักษณะของพระวิษณุ ส่วนบุคคลที่ 1 และ 4 จากซ้าย คือรูปของพระทวารบาล นนทิเกศวร และมีรูปสลักมหากาลและรูปสิงห์ด้วย

สำหรับรูปเทวี 4 พระกร ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของพระวิษณุ หมายถึง พระวิษณุศักดิ แม่ลักษมี ตามคัมภีร์ วิษณะปุราณะ

เทวีถือดอกบัวข้างซ้ายของพระศิวะ คือ พระนางภูมีเทวี

เทวีด้านขวาของพระศิวะ คือ พระศักติเทวี

ภาพสลักชุดนี้สร้างในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 รัชสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2

ส่วนภาพฤๅษี 1 ใน 7 คือท่านศิวะโสมะ ผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศ และได้รับการเคารพนับถือจากเหล่าผู้ศรัทธา เขาและเหล่าผู้คนนั้นได้พากันมาบำเพ็ญตบะแห่งความบริสุทธิ์ บูชาไฟ บูชาพรหม บูชาคุรุ และบูชาเหล่าเทพเจ้าโดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นพระองค์ใด

ท่านได้สร้างรูปประติมากรรมทั้งหลายไว้ที่เพิงถ้ำแห่งเขามเหนทระ เพื่อถวายเป็นที่สถิตของพระมเหศวรและนางปารวตี ผู้เป็นบุตรีแห่งท้าวหิมาลายา เหล่าเทพเจ้าและพระเทวีจะได้ทรงประทานพรสวรรค์และการปลดปล่อยครั้งสุดท้ายให้แก่พระศิวะโสมะและเหล่าสาวก ผู้อาศัยบำเพ็ญเพียรอย่างถาวรอยู่ในเพิงผามเหนทระที่เปรียบประดุจสวรรค์แห่งนี้

ภาพสลักเทพเจ้าทั้งหมดถูกกล่าวพระนามกำกับไว้ทุกองค์ในจารึกที่ปรากฏบนเพิงหินเปิงกมนูว์ ที่ถูกเรียกว่า จารึกเพิงเก้งกอง (Peung Keng Kang/K.176) หมายถึงเพลาหรือแกนของวงล้อในภาษาเขมร เป็นชื่อนามเดิมของสถานที่แห่งนี้ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส

จารึกอักษรเขมร-ภาษาสันสกฤต 17 บรรทัด บนผนังด้านขวาของรูปสลัก เป็นฉันทลักษณ์ 6 บท สลักขึ้นเมื่อศักราช 996 ซึ่งตรงกับช่วงรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 ต่อกับยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อันเป็นช่วงเวลาที่สอดรับการงานศิลปะของรูปสลักบนเพิงผาได้อย่างลงตัว คือเป็นศิลปะแบบปลายบาปวน เข้าสู่ยุคศิลปะแบบพิมายและนครวัดตอนต้น

นอกจากภาพสลักของเหล่าเทพเจ้าแล้ว ยังมีรูปกลุ่มบุคคลเล็กๆ เหนือหัวสิงห์ทวารบาล ซึ่งเป็นภาพสลักของโอรสพระศิวะทั้งสามได้แก่ พระพิฆเนศทรงช้าง พระอัยยัปปันทรงเสือ และพระสกันธกุมารทรงนกยูง

และยังมีภาพอีกกลุ่มในกรอบรวยนาค จะอยู่ด้านซ้ายมือของภาพสลักของเหล่าเทพเจ้า เป็นภาพวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะในตอนกำเนิดโลก กับภาพ วามนาวตาร หรือ นารายณ์ตรีวิกรม ตอนกำราบ อสูรพลี-มหาพาลี ที่มีภาพของพระแม่ภูมิเทวีกำลังรองรับพระบาท และภาพของพญาหมี ชามพวาน ผู้กำเนิดจากพระพรหม ช่วยเหลือพระอวตารในการก้าว 3 โลกครับ

ส่วนภาพอีกกลุ่มจะอยู่ด้านขวามือของภาพสลักของเหล่าเทพเจ้า เป็นภาพของบุคคล 2 กลุ่มย่อย แบ่งเป็นกลุ่ม 3 คน และ 2 คน โดยกลุ่มสามคน คนที่อยู่ตรงกลางคือพระศิวะถือคฑาตรีศูลในภาค มหาฤๅษี/โยคี มีภาพพระนางปารวตีประคองก้านดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระอุระ แสดงความเคารพ (สวัสดิกะมุทรา) อยู่เคียงข้าง เทพเจ้าแสดงวันทาอัญชุลี และเทพเจ้าคู่ชายหญิงถือดอกบัวเอามือทาบบนหน้าอก แสดงความเคารพ

อีกฝั่งของเพิงหินก้อนใหญ่นี้ยังปรากฏภาพสลักอีกหนึ่งภาพ รวมทั้งยังมีภาพสลักบนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่เคียงคู่กัน

ภาพสลักที่อยู่อีกด้านของเพิงหิน (ภาพกลุ่มแรก) เป็นภาพสลักพระคเณศ 8 กร (พระคเณศ เป็นเทพแห่งสติปัญญา เทพแห่งศิลปะความรู้ และความสำเร็จทั้งมวล)

ส่วนภาพสลักบนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เคียงคู่กัน เป็นภาพของพระวิษณุอนันตศายิน-ปัทมนาภะ (พระวิษณุผู้นอนอยู่เหนือพระยานาคอนันตนาคราช) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า นารายณ์บรรทมสินธุ์ อันเป็นชื่อเรียกกรณียกิจที่สำคัญตอนหนึ่งของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ แสดงถึงเรื่องราวของการสร้างโลก อันเป็นปฐมภูมิของการกำเนิดสรรพสิ่งทั้งปวงตามคติในพราหมณ์-ฮินดู

การบรรทมสินธุ์ของพระนารายณ์ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่โลกถูกทำลายจมอยู่ใต้น้ำ บรรดาเหล่าพระพรหมและฤๅษีอยู่ในโลกเบื้องบนได้พากันมาอ้อนวอนพระนารายณ์ให้สร้างโลกขึ้นมาใหม่ พระนารายณ์จึงเข้าโยคะนิทรา คือการทำโยคะในขณะที่กำลังนอน โดยได้บรรทมอยู่เหนือพระยานาคอนันตนาคราช กลางเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม โดยมีพระนางลักษมีหรือพระศรีประคองพระบาท ในที่สุดได้บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระองค์ โดยมีพระพรหมประทับนั่งอยู่บนดอกบัว เพื่อทำหน้าที่สร้างโลกและสรรพสิ่งต่างๆ อีกครั้ง ภายหลังจากการสร้างโลกแล้วเสร็จ พระนารายณ์ก็จะเป็นผู้ดูแลปกป้องรักษาโลกจนครบกำหนด จากนั้นพระนารายณ์ก็จะทำลายล้างโลก เมื่อนั้นพระนารายณ์จะบรรทมสินธุ์เพื่อให้กำเนิดพระพรหมเช่นนี้ต่อไป ระยะเวลาการสร้างโลกขึ้นมาและทำลายล้างไปเรียกว่า 1 กัลป์

นอกจากภาพสลักบนเพิงหินใหญ่แล้ว ยังมีภาพเขียนสีโบราณ เป็นรูปปลา ยาวประมาณ 1 เมตร มีสีแดง อยู่บนผนังด้านบนครับ หากไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็นครับ

ไม่ไกลจากภาพสลักของเหล่าเทพเจ้ากลุ่มแรก เป็นที่ตั้งของภาพสลักพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งการแกะสลักหินสมบูรณ์เฉพาะภาพของพญาครุฑ ส่วนภาพสลักของพระนารายณ์ยังไม่เสร็จ ปรากฏเพียงเค้าโครงการร่างภาพ พระนารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับพระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณเป็นชื่อเรียกครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ

ภาพสลักเกือบทุกจุดยังคงความชัดเจนมากๆ ถึงแม้ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมานับพันปี จะมีเพียงภาพสลักของนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่อาจจะสังเกตยากอยู่สักหน่อยครับ

ระหว่างเส้นทางจากเสียมเรียบมายังเปิงกมนูว์ จะผ่านตลาดของชุมชน หากใครชอบชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ลองแวะเดินเล่นดูนะครับ แม่ค้าที่นี่อัธยาศัยดีมากๆ สินค้าหลายอย่างมาจากบ้านเราครับ

ขนมก็ไม่แตกต่างจากบ้านเราเลย ทั้งขนมวง ตะโก้ ข้าวเหนียวกวน ซาลาเปาทอด ขนมไข่หงส์ครับ

หอยปรุงรส น่าจะเป็นของดังของกัมพูชาครับ เพราะเห็นเยอะมากๆ เขาจะเอาหอยมาคลุกเครื่องปรุงต่างๆ แล้วนำมาตากไว้กลางแดด

อยากจะชิมอะไร สามารถใช้แบงค์ดอลล่าซื้อได้เลยครับ

เพื่อนๆ คนไหนที่ต้องการชมการบูรณะปราสาท ผมแนะนำให้ไปชมที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก ซึ่งปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่กลางบารายขนาดใหญ่ทางตะวันตกของนครธม บารายตะวันตกแห่งนี้ขุดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 มาแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 และพระองค์ได้โปรดให้สร้างปราสาทแม่บุญตะวันตก อันเป็นปราสาทในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูขึ้นบนเกาะกลางน้ำ เพื่ออุทิศให้บรรพบุรุษหรือลัทธิบุคคลนิยม

บารายตะวันตกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ขนาด 2.2 x 8 กิโลเมตร ถือเป็นบารายขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองพระนคร และถือเป็นแหล่งน้ำสำรองที่ขุดด้วยมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 53 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 12-14 พันล้านแกลลอน โดยคำนวณจากความลึกที่ขุดลงไปในดินราว 39 ฟุต เราสามารถชมวิวของบารายตะวันตกมุมสูงได้ตอนที่ขึ้นไปที่ปราสาทพนมบาเค็งครับ

การไปชมปราสาทแม่บุญตะวันตก จะต้องเหมาเรือเข้าไปกลางบาราย ในราคาลำละ 20$ โดยนั่งเรือประมาณ 15 นาทีก็ถึงเกาะกลางบาราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทแม่บุญตะวันตกครับ

การบูรณะปราสาทแม่บุญตะวันตก เป็นโครงการที่ร่วมดำเนินการกันหลายหน่วยงาน ทั้งรัฐบาลกัมพูชา หน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมของฝรั่งเศส องค์กรอัปสรา มูลนิธิของบริษัทน้ำมันโทเทล และสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศครับ เราสามารถชมชั้นตอนการบูรณะปราสาทได้เฉพาะด้านนอกแนวรั้วเท่านั้น โดยเมื่อขึ้นไปบนเกาะแล้ว ให้เดินเลาะรั้วในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา จะพบศาลาเล็กๆ สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ชมการบูรณะปราสาทได้ในระยะใกล้ๆ ครับ

การเข้าชมปราสาทแม่บุญตะวันตก ไม่มีค่าเข้าชมแต่อย่างใดครับ

จากจุดลงเรือ หากนั่งรถต่อไปอีกราว 1 กิโลเมตร เราจะพบกับปราสาทออกยม (Ak Yum Temple) ปราสาทเล็กๆ ที่ชำรุดและพังทลายลงจนเกือบไม่หลงเหลือเค้าเดิมอยู่เลย ด้านบนปราสาทพบแท่นประดิษฐานศิวลึงค์ขนาดใหญ่ ตามประวัติบอกว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 และมีการสร้างต่อเติมอีกหลายสมัย เป็นศิลปะขอมแบบกำพงพระครับ

ดูปราสาทต่างๆ กันมาเยอะแล้ว ผมขอพาไปกราบไหว้สักการะขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเมืองเสียมเรียบกันบ้าง กับองค์เจ๊กองค์จอม เชื่อกันว่าพระพุทธรูปสององค์นี้เป็นพี่น้องกัน โดย องค์เจกเป็นพี่ องค์จอมเป็นน้อง ทั้งคู่เป็นสตรี สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปทั้งสองสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ไม่มีหลักฐานใดบอกได้ว่าองค์เจก องค์จอม คือใคร แต่ก็มีคนบอกว่าทั้งคู่เป็นบุตรีของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์ที่สร้างนครวัด ถึงแม้ว่าพระองค์จะนับถือพราหมณ์-ฮินดู แต่พระองค์ก็ไม่ได้บังคับให้ลูกของท่านต้องมานับถือพราหมณ์-ฮินดูตามท่าน บ้างก็บอกว่าองค์เจก องค์จอมเป็นรูปปฏิมาของพระนางอินทรเทวีและพระนางชัยราชเทวี ซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกตำนานหนึ่งก็เล่าว่าทั้งสองพระองค์เป็นบุตรสาวของเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองเสียมเรียบ สองพี่น้องมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง อยู่มาวันหนึ่งหลังจากไปทำบุญ พอกลับมาบ้านก็นอนหลับไปเฉยๆ ไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย บิดามารดาเสียใจเป็นอย่างมากและอาลัยอาวรณ์ลูกสาวทั้งสองที่จากไปโดยมิได้สั่งเสีย ทั้งบิดามารดาจึงได้สร้างพระพุทธรูปสำริดขึ้นมาสององค์ตามชื่อลูกสาว และได้ตั้งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ต่อมาจึงได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนศาลหลักเมืองของเมืองเสียมเรียบไปแล้วครับ

องค์ใหญ่คือองค์เจก ส่วนองค์เล็กคือองค์จอมครับ

ด้านข้างองค์เจก องค์จอม จะมีศาลายายเทพตั้งอยู่ เชื่อว่าบูชาขอลูก ขอให้ค้าขายรุ่งเรืองดีนักแล

อาศรมองค์เจก องค์จอม ตั้งอยู่ใกล้กับพระตำหนักของพระบาทนโรดม สีหนุ ต้องบอกเลยว่ามีชาวกัมพูชามากราบไหว้ขอพรจากองค์เจก องค์จอมอย่างไม่ขาดสายเลยครับ

ทริปนี้ ถ้าอยากจะให้จบแบบ Happy Ending ผมขอแนะนำให้ไปปิดทริปที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ (Angkor National museum) ครับ เพราะจากที่เราตะเวนเที่ยวปราสาทต่างๆ มาหลายสิบปราสาท สิ่งที่เป็นไฮไลท์หลายสิ่งอย่าง มักถูกนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา รวมถึงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครับ

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ ตั้งอยู่ในตัวเมืองเสียมเรียบเลยครับ โดยจะรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุของนครวัด อีกทั้งยังให้ข้อมูลและการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของอารยธรรมเขมร โดยวัตถุที่นำมารวบรวมส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่สมัยนครอังกอร์ของอาณาจักรเขมรในช่วงศตวรรษที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 14 ครับ รัฐบาลกัมพูชาได้มอบหมายให้ตระกูลวิไลลักษณ์ เจ้าของกลุ่มบริษัทสามารถของไทยเป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้างและบริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

โถงทางเดินรูปโค้ง จะนำให้เราขึ้นสู่ห้องจัดแสดงห้องแรกที่อยู่บริเวณชั้น 2 เป็นการเตรียมตัวก่อนการเดินทางย้อนกลับสู่เรื่องราวของอาณาจักรเขมรโบราณ

ห้องจัดแสดงพิเศษ 1,000 Buddha Image แสดงวิวัฒนาการของพุทธศาสนาในอาณาจักเขมรโบราณ ศาสนาพุทธเกี่ยวพันทางจิตวิญญาณกับอารยธรรมเขมรโบราณจนถึงปัจจุบัน ภายในห้องจัดแสดงพระพุทธรูปหนึ่งพันองค์ แสดงให้เห็นถึงการสะสม รวบรวมพระพุทธรูปและโบราณวัตถุกว่า 1,000 องค์ที่เลื่องลือและน่าเลื่อมใสมากที่สุดแห่งหนึ่งที่เคยมีมา ห้องจัดแสดงได้รับการออกแบบเป็น 7 ห้อง และอีก 1 ห้องจัดแสดงพิเศษ โดยนำเสนอเรียงตามลำดับก่อนหลังตามกาลเวลาผ่านเทคโนโลยีการนำเสนอที่หลากหลาย ผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้เราเข้าใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมรวมทั้งศาสนาและความเชื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรเขมรโบราณได้อย่างลึกซึ้งและง่ายยิ่งขึ้น

ห้องจัดแสดง Khmer Civilization ความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรเขมรโบราณ จุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองแห่งอารยธรรม มนต์ขลังและเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาสู่เมืองเสียมเรียบ คงหนีไม่พ้นการค้นหาอาณาจักรเขมรโบราณที่ยิ่งใหญ่ ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร อะไรคือแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่โลกเคยมีมา พร้อมทั้งเรียนรู้ว่าทำไมประชาชนชาวเขมรโบราณจึงได้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มากมายถึงเพียงนี้

ห้องจัดแสดง The Great Khmer Kings พระมหากษัตริย์นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเขมรโบราณแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ แต่ที่มีความสำคัญโดดเด่นที่สุดนั้นมีอยู่ 4 พระองค์ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กษัตริย์ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเข้าด้วยกัน, พระเจ้ายโสวรมันที่ 1 กษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาอังกอร์ขึ้นเป็นเมืองหลวงของราชธานี, พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์ผู้ทรงเริ่มก่อสร้างปราสาทนครวัด และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงก่อตั้งเมืองนครธมเป็นพระนคร ภายในห้องจัดแสดงจะนำเสนอเรื่องราวของทั้ง 4 พระองค์ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มีต่ออาณาจักรเขมรโบราณมานานนับศตวรรษ

ห้องจัดแสดง The Story from stone เรื่องเล่าจากศิลาบทบันทึกทางวัฒนธรรม ศิลาจารึกที่ถูกค้นพบทั่วไปภายในอาณาจักรอังกอร์หรืออาณาจักรเขมรโบราณเหล่านี้ เปรียบได้กับเครื่องมือบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเหล่านั้นในอดีต ตัวอักษรที่ถูกจารึกเอาไว้เป็นตัวนำให้เราเดินทางย้อนกาลเวลาไปค้นพบอดีตกาลที่อุดมไปด้วยความยิ่งใหญ่และความเชื่อต่างๆ ของอาณาจักรเขมรโบราณแห่งนี้

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ มีค่าเข้าชมคนละ 12$ ด้านในไม่อนุญาตให้ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายภาพนะครับ อนุญาตให้ถ่ายภาพได้จากโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

สำหรับที่พัก ผมเข้าพักที่ Eightfold Urban Resort ทำเลที่ตั้งจะออกนอกเมืองเล็กน้อยจึงทำให้บรรยากาศรอบๆ รีสอร์ทไม่วุ่นวาย (ห่างจาก Pub Street ประมาณ 2 กิโลเมตร) รีสอร์ทออกแบบสไตล์โมเดิร์น แต่ยังคงมีกลิ่นอายของอารยธรรมขอม ท่ามกลางสวนเขียว ทำให้รู้สึกสดชื่นตลอดการพักผ่อนครับ

ไปดูบรรยากาศห้องพักกันบ้าง ผมเข้าพักห้อง Deluxe Double with Pool View ห้องพักขนาด 40 ตารางเมตร พร้อมระเบียง เตียงหมอน นุ่มสบาย สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอแบน เครื่องปรับอากาศ พัดลมเพดาน เตารีด/ที่รองรีด ตู้นิรภัย ไดร์เป่าผม ชุดชา/กาแฟ โทรศัพท์ free wifi รวมถึงมีมุมโต๊ะทำงานและเก้าอี้โซฟาสำหรับนั่งดูทีวีด้วย แต่ผิดหวังกับแอร์ครับ ขนาดตั้งอุณหภูมิต่ำแล้วก็ยังไม่เย็น ต้องเปิดพัดลมเพดานช่วยด้วย

ผนังห้องน้ำ 2 ด้านเป็นกระจกเต็มบาน ทำให้ห้องดูกว้างขวาง แต่ไม่ต้องกังวลเวลาอาบน้ำ สามารถดึงม่านมาปิดได้ ภายในห้องน้ำถือว่ากว้างขวาง แบ่งส่วนเปียกส่วนแห้งชัดเจน มีอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ให้ด้วย โถสุขภัณฑ์มีสายฉีดชำระให้พร้อม

ไปดูห้องแบบ Suite with Private Pool ซึ่งเป็นห้องที่เพื่อนผมพักครับ ห้องมีขนาด 60 ตารางเมตร สิ่งอำนวยความสะดวกก็จะคล้ายกับห้องแบบ Deluxe แต่จะแตกต่างตรงพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า 20 ตารางเมตร แถมยังมีสระว่ายน้ำส่วนตัวให้ด้วย

ถ้าอยากจะไปว่ายน้ำที่สระรวม ก็สามารถว่ายน้ำจากระเบียงห้องพักได้เลย

สระว่ายน้ำส่วนตัว อยู่ด้านข้างห้องพักครับ

ห้องน้ำกว้างขวางมากๆ ครับ

ไปดูบรรยากาศโดยรอบกันบ้าง เริ่มที่สระว่ายน้ำครับ

ห้องอาหาร อาหารเช้าจานหลักจะเสิร์ฟเป็นอาหารจานเดียว เลือกได้ 1 เมนู ประเภทข้าวผัด ข้าวต้ม แล้วจะมีไข่ สลัด ผลไม้ แบบบุฟเฟต์เสริมให้อีกนิดหน่อยครับ

โดยรวมแล้ว ที่พักถือว่าโอเค บรรยากาศโดยรอบถือว่าดี ติดเรื่องเครื่องปรับอากาศที่ไม่ค่อยเย็น สำหรับเรื่องการบริการพนักงานหน้าฟร้อน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น คาดการณ์อายุไม่น่าจะเกิน 25 ปี Service mind ดี แต่การแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจอาจยังไม่ดีพอ วันแรกที่มาถึงผมมาถึงก่อนเวลา จึงต้องนั่งรอเวลาเพื่อทำการ Check in เมื่อถึงเวลาที่จะทำการ Check in ห้องผมสามารถเข้าห้องพักได้ตามปกติ แต่อีกห้องหนึ่งที่เพื่อนผมพัก ซึ่งเป็นห้องที่ดีที่สุดของโรงแรมและมีห้องเดียวด้วย เมื่อถึงเวลา Check in ปรากฏว่าห้องไม่พร้อม จึงต้องนั่งรออยู่ที่บริเวณลอบบี้ต่อไปอีกราว 2-3 ชั่วโมง จึงสามารถ Check in ได้

การเดินทางมาเที่ยวที่เสียมเรียบ สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์และเครื่องบิน ซึ่งทริปนี้ผมเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน จากเมืองไทย มี 3 สายการบินที่ให้บริการ นั่นคือ การบินไทย, Bangkok Airways และ Air Asia ครับ

บรรยากาศภายในสนามบินนานาชาติเสียมเรียบ-อังกอร์ กว้างขวางมากเลยทีเดียว ไม่รู้ว่าเพราะสายการบินที่บินมาลงไม่เยอะหรือว่าสนามบินสร้างใหญ่เกิน ทำให้ผู้คนดูไม่พลุกพล่าน ไม่แออัดเหมือนสนามบินนานาชาติตามต่างจังหวัดในบ้านเราครับ ด้านในตกแต่งเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรครับ

มี Food Hall เล็กๆ และ Duty free ด้วย

ใช้เวลาบินราว 1 ชั่วโมงครับ

1.การจองตั๋วเครื่องบิน Air Asia ไม่ได้ราคาต่ำสุดเสมอไป ลองเปรียบเทียบราคากับ การบินไทย, Bangkok Airways ด้วย ช่วงที่ผมไป ราคาของการบินไทยถูกกว่า Air Asia ครับ

2.การเที่ยวในกัมพูชา คนไทย Free Visa ครับ

3.ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวชมปราสาทต่างๆ ในเสียมเรียบ ผมว่าช่วงปลายฝนต้นหนาว ราวเดือนตุลาคม จะสวยที่สุด เพราะปราสาทต่างๆ จะถูกปกคลุมด้วยมอส มองไปทางไหนก็จะเจอแต่สีเขียว ดูสดชื่น เปอร์เซ็นต์การเจอฝนระหว่างออกทริปจะน้อยกว่าช่วงฤดูฝน และอากาศไม่ร้อนจนเกินไป ส่วนช่วงต้นธันวาคม ท้องฟ้าแจ่มใส แดดแรง แต่อากาศไม่ร้อนมาก ปกติผมเป็นคนเหงื่อเยอะ มาเที่ยวช่วงเดือนธันวาคม แทบไม่มีเหงื่อเลยครับ ผิดกับช่วงเดือนเมษายน ทั้งแดดและอากาศร้อนมากๆ เที่ยวได้ไม่เยอะ เดินเที่ยวนิดเดียวก็เพลียแล้ว แถมเหงื่อยังออกท่วมตัวจนขี้เกลือขึ้นเสื้อและกางเกง

4.น้ำดื่มสำคัญมากในการท่องเที่ยวในเสียมเรียบ หากเดินทางแบบแบคแพค แนะนำให้ติดกระบอกน้ำไปด้วยก็ดี หาซื้อน้ำจาก Supermarket ในตัวเมืองเสียมเรียบไปให้เรียบร้อย เพราะน้ำดื่ม/อาหาร ตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว ราคาสูงมาก

5.อาหารตามร้านอาหารหรูๆ ในตัวเมืองเสียมเรียบ ราคาแทบไม่ต่างกับร้านอาหารข้างทางตามแหล่งท่องเที่ยว แนะนำให้ทานมื้อเช้าและมื้อเย็นในตัวเมืองเสียมเรียบ ส่วนมื้อกลางวันหากแพคใส่กล่องไปได้ก็ดี จะช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้เยอะครับ

6.การซื้อบัตรเข้าชมนครวัด หากซื้อบัตรหลังเวลา 16.45 น. เราจะสามารถเที่ยวชมปราสาทในวันที่เราซื้อบัตรได้ โดยยังไม่ถือว่าเป็นการเริ่มใช้บัตรที่เราซื้อ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจึงนิยมขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกบนพนมบาเค็ง หรือไม่ก็ขับรถเที่ยวชมบรรยากาศในเมืองนครธมครับ

7.การใช้เงินที่เสียมเรียบ สามารถใช้เงินสกุลดอลล่าได้เลย หากราคาสินค้าต่ำกว่าเงินดอลล่า แม่ค้าจะทอนเป็นเงินเรียลกัมพูชาให้ ซึ่งเราสามารถนำเงินเรียลไปใช้ร่วมกับเงินดอลล่าในการซื้อสินค้าครั้งต่อไปได้ แนะนำว่าแลกเงินดอลล่าไปใช้ดีสุดครับ

8.รีวิวนี้ผมเดินทางไปเที่ยวกัมพูชารวม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกใช้บริการกับไกด์สุข ครั้งที่ 2 ใช้บริการไกด์โสม ทั้งคู่สามารถสื่อสารและพิมพ์ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ตรงต่อเวลา ดูแลลูกค้าดี ถ่ายรูปสวย หากใครสนใจสามารถติดต่อใช้บริการ ตามช่องทางนี้ครับ

ไกด์สุข https://www.facebook.com/siemreaptourtuktuk

ไกด์โสม https://heylink.me/hanuman.angkor/

ข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเขียนรีวิวอ้างอิงจาก

1. YouTube : ช่อง Abdulthaitube , ช่องประวัติศาสตร์ นอกตำรา, Morakot Rang

2. Supawan’s Diary, Supawan’s Colorful World

3. Pantip : หมายเลข 2889847, Declare01

ลุงเสื้อเขียว

 วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลา 10.43 น.

ความคิดเห็น