บ่ายวันที่ท้องฟ้าร้องไห้เหนือเนินทรายทตโตริ ความตั้งใจที่จะไปโพสต์ท่าขี่อูฐ นั่งกระเช้าจากบนยอดลงไปเนินทรายหายไปทันทีที่หยดฝนเม็ดแรกจิ้มจมูก ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็น ดินแดนแห่งทะเลทราย ไม่ใช่เพราะแห้งแล้ง แต่เพราะมีเนินทราย (Sand Dunes) ใหญ่อยู่มากมาย ที่จริงอยู่ติดทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) และหากโชคดี คุณจะได้เจอหิมะตกบนเนินทรายในหน้าหนาวด้วย

“ไม่เป็นไร! ไปเดินเล่นในพิพิธภัณฑ์ทรายรอฝนหยุดตกก็ได้” ว่าแล้วก็เดินอย่างมุ่งมั่นไปตู้ขายตั๋ว กี้ยื่นตั๋วราคา 500 Yen ที่ซื้อมาจาก Tourist Information ที่สถานีทตโตริให้ ถ้ามาซื้อหน้างานต้องจ่าย 600 Yen
               “Where are you from?” คุณลุงเฝ้าทางเข้าทักอย่างใจดี และหันไปหยิบโบรชัวร์มาปึกใหญ่ๆ จะให้หมดนั้นเลยหรอคะ?
               “I’m from Thailand, Sawaddee ka” ยกมือไหว้สวยๆ ประหนึ่งเป็นตัวแทนนางสาวไทย
               “Oh Sawaddee krub. Have a nice day. Arigatou gosaimasu” คุณลุงไหว้กลับอย่างอ้อนน้อมจนคนไทยอย่างกี้เขินเลย พร้อมยื่นโบรชัวร์แนะนำนิทรรศการภาษาอังกฤษมาให้


สิ่งแรกที่เห็นคือเต้นท์ขนาดใหญ่ที่ปกป้องไม่ให้ คุณแม่เทเรซ่า ต้องตัวเปียกหนาวสั่นเหมือนที่กี้เป็นอยู่ตอนนี้ “ว้าว ใหญ่จัง” นี้เป็นผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่นคุณ Chaen Katsuhiko – คุณแม่เทเรซ่า ‘นักบุญของผู้ยากไร้’ ถือกำเนิดในประเทศยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือประเทศมาซีโดเนีย) เมื่ออายุ 18 ปี ท่านปวารณาตนเป็นแม่ชีและย้ายไปอินเดีย เปิดโรงเรียนสอนหนังสือในสลัม ช่วยให้เด็กยากจนได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และยังสร้าง “บ้านสำหรับผู้รอความตาย” เพื่อให้ผู้ที่ใกล้จะสิ้นอายุขัยได้สัมผัสความอบอุ่นและความสุขสงบก่อนจากโลกนี้ โดยไม่แบ่งแยกศาสนา


 
ละสายตาจากใบหน้าใจดีของคุณแม่เทเรซ่าไปมองรอบๆ เจอเพียงระฆังใบน้อยที่เขียนว่า “Bell of Happiness” และความรกร้างว่างเปล่าของทะเลทรายที่มองจากระเบียง ระหว่างที่ยืนงงในดงทรายเกาหัวพลางนึกสงสัยว่าหมดแล้วหรอ? ก็มีคนเดินสวนมาจากทางเดินเล็กๆ “โอ๊ะ มีทางตรงนั้นด้วย” กี้เพิ่งมารู้ทีหลังว่าตัวเองเข้ามาจากทางออก ส่วนทางเข้าหลักจริงๆ ต้องลงก่อน 1 สถานีรถบัส รูปแกะสลักแม่ชีเทเรซ่าที่ดูไปสักครู่อยู่ที่ระเบียงชั้น 3 งานนี้เลยเดินงงๆ ไล่จากบนลงล่าง



“สุดยอดดดดด!” มองจากระเบียงชั้นสองลงไปเห็นงานแกะสลักทรายนับสิบชิ้นตั้งอยู่ในโถงขนาดใหญ่พอๆ กับโรงหนัง 1 โรง บนชั้นสองจะมีรูปภาพผลงานของปีก่อนๆ โชว์อยู่ ซึ่งจัดมา 12 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2006 แต่ละปีจะเปลี่ยนธีมไปเรื่อยๆ อย่างปีแรกสุดเป็นธีมเทพเจ้า จากนั้นก็มีธีม England, USA, South Africa และล่าสุดปี 2019 เป็นธีม South Asia


ลงไปชั้น 1 เพื่อสำรวจใกล้ๆ เมื่อเข้าไปในโถงจะเจอกับ ท่านมหาตมะ คานธี นั่งขัดสมาธิรอต้อนรับอยู่ ด้านหลังมีคำสอนที่โด่งดัง มีคำคมที่กี้ชอบมากด้วย เพิ่งรู้ว่ามาจากท่าน “Live as if you were to die tomorrow. Learn as if you were to live forever” ท่านคานธีมีเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนด้วยวิธีอหิงสา เคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรง มักจะเห็นท่านประท้วงการใช้ความรุนแรงด้วยการอดอาหาร นี่คือความสุดยอด ลองนึกดูว่าปัจจุบันหากมีคนบอกจะอดอาหารประท้วง คงได้ยินว่า “เอาที่สบายใจ” แต่กลับท่านคานธี อังกฤษยอมให้อิสระอินเดีย ฮินดูยอมสงบศึกกับมุสลิม เพราะทุกคนรับรู้ได้ถึงความมีจิตใจอันสูงส่งที่ทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง นี้คือผลงานของศิลปินชาวรัสเซียคุณ Pavel Mylnikov

 

“Ablution and Prayer in Varanasi” ผลงานของศิลปินชาวอิตาลีคุณ Michela Ciappini การสรงน้ำและสวดภาวนาในเมืองพาราณสี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าและที่สถิตแห่งศิวเทพ สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอินเดียที่แช่ตัวในแม่น้ำคงคาทุกวันเพื่อบูชาเทพเจ้า รวมถึงดื่มน้ำจากแม่น้ำ ใช้แม่น้ำในการเกษตร และในวาระสุดท้ายก็โปรยผงเถ้ากระดูกคนตายลงแม่น้ำด้วย ที่นี่จึงได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำแห่งชีวิตและศรัทธา

 

“The Star Mosque and the Bustle of the City” ได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยที่สุดแห่งเมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ เป็นมัสยิดสีขาวมีลวดลายรูปดาว และมีน้ำพุรูปดาวขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าเลยชื่อว่า Star Mosque เป็นผลงานของคุณ Melineige Beauregard ศิลปินชาวแคนาดา
 

“Mohenjo-daro and the Indus Valley Civilization” โมเฮนโจ ดาโร เมืองโบราณสถานมรดกโลกของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่สร้างขึ้นราว 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ผลงานของคุณ Oscar Rodriguez ศิลปินชาวสเปน
 

“The Shrine of Hazrat Ali – The Blue Mosque” ศาสนสถานเฮซเรต อาลี แห่งอัฟกานิสถาน หรืออีกชื่อคือมัสยิดสีฟ้าเพราะมีกำแพงเป็นลายโมเสคสีฟ้าตัดทอง ของจริงสวยอลังมาก นี้เป็นผลงานของศิลปินชาวแคนาดาคุณ Guy-Olivier Deveau

“The Vishvanatha Temple in Khajuraho” ผลงานของศิลปินชาวอเมริกาคุณ Dan Belcher วัดวิศวนาถ เมืองคาจูราโฮ อินเดีย ตอนหาข้อมูลเจอคนเรียกที่นี่ว่า อีโรติกสถาน เลยต้องรีบหารูปปลากรอบกรุบๆ ดู “อู้ววว อย่างงี้นี้เอง”
 

“Hindu Mythology” ผลงานของคุณ Dmitrii Klimenko ศิลปินชาวรัสเซีย เล่าเรื่องราวของตำนานเทพเจ้าฮินดู ในภาพจะเป็นรูปแกะสลักของพระวิศนุ ผู้ปกป้องโลก กำลังนั่งสมาธิอยู่กับพญานาคพันหัวตามตำนาน (แต่ปั้นจริงมีห้าหัวนะ) โดยมีพระนางลักษมีเทพแห่งความงามและความร่ำรวย พระชายานั่งอยู่ข้างๆ

“Hindu Sculpture – Stone Wheels of Konark” โกนารัก มหาวิหารบูชาสุริยะเทพ ‘สูรยะ’ เทพแห่งดวงอาทิตย์ ที่นี่เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของอินเดีย ในรูปคือกงล้อรถซึ่งที่วิหารจริงมีทั้งหมด 12 ล้อ เป็นตัวแทนของ 12 ราศี นี้เป็นผลงานของศิลปินชาวอินเดียคุณ Sudarsan Pattnaik

“The Buddha’s Origin and his Enlightenment” การตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะและกลายเป็นพระพุทธเจ้า ผลงานของคุณ Thomas Koet ศิลปินชาวอเมริกา
 

“The Death of Buddha” การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทั้งสาวกและสรรพสัตว์ต่างเศร้าโศกเสียใจ ผลงานของศิลปินชาวเนเธอแลนด์คุณ Marielle Heessels

“The Buddhas of Bamyan” ผลงานของศิลปินชาวจีนคุณ Yang Lidong พระพุทธรูปสององค์แห่งหน้าผาบามียาน อัฟกานิสถาน สูงถึง 38 เมตรและ 55 เมตร น่าเศร้าที่องค์พระพุทธรูปหายวับไปกับระเบิดไดนาไมต์ของรัฐบาลฏอลิบาน ซึ่งห้ามไม่ให้บูชารูปเคารพตามกฏหมายอิสลาม ปัจจุบันนานาชาติได้เข้าฟื้นฟูจนประติดประต่อพระพุทธรูปองค์เล็กที่เหลืออยู่ได้ ส่วนองค์ใหญ่แทบไม่เหลือชิ้นส่วนเลย แต่องค์กรยูเนสโกก็ยังคงพยายามฟื้นฟูสถานที่ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ต่อไป

“Patan Durbar Square” จัตุรัสปะฏัน ดูร์บาร์ ตั้งอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุ เนปาล เป็นที่ตั้งพระราชวังเก่าของอาณาจักรกาฐมาณฑุ ผลงานของศิลปินชาวลิทัวเนียคุณ Andrius Petkus

มาถึงไฮไลท์ของงาน รูปแกะสลักที่ตั้งโดดเด่นอยู่ตรงกลาง ขนาดใหญ่กว่ารูปอื่นถึง 3 เท่า เพราะเป็นการรวมกันของ 3 รูปแกะสลักของ 4 ศิลปิน ได้แก่ Taj Mahal – ผลงานของคุณ Leonardo Ugolini ชาวอิตาลี, The Love Story of Shah Jahan and Mumtaz – ผลงานของคุณ Ilya Filimontsev ชาวรัสเซีย และ The Parade of the Mughal Empire I, II – ผลงานของคุณ David Ducharme ชาวแคนาดา และคุณ Susanne Ruseler ชาวเนเธอแลนด์

ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานที่สวยงามที่สุดในโลก ซึ่งจักรพรรดิชาห์ชะฮันแห่งราชวงศ์โมกุลสร้างเพื่อแสดงความรักที่มีต่อจักรพรรดินีมัมทัส มาฮาล หลังจากนางสิ้นพระชนม์
 

นอกจากจะเด่นในเรื่องของความรักโรแมนติก (และแอบโหดร้าย) จักรพรรดิชาห์ชะฮันยังเลื่องลือว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ ยุคของพระองค์ถือเป็นยุคทองของราชวงศ์โมกุล มีกองทัพอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“Paro Taktsang and the Founder of Tibetan Buddhism” วัดทักซัง สัญลักษณ์ของประเทศภูฏาน เป็นวัดพุทธทิเบตตั้งอยู่บริเวณหน้าผา คำว่าทักซังมีความหมายว่า ‘รังเสือ’ ตามตำนานกล่าวว่าท่านกูรูรินโปเช ขี่เสือมาปฏิบัติธรรมที่นี่และเผยแพร่ศาสนาให้ชาวท้องถิ่น
 

“Sigiriya Rock and the Paintings” ภูเขาสิกิริยาและภาพวาดสีเฟรสโก้ แห่งศรีลังกา ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังลอยฟ้าเพราะตั้งอยู่บนภูเขาสูงเกือบ 200 เมตร ปากทางเข้าเป็นรูปเท้าสิงโต มีภาพเขียนนางอัปสรวาดอยู่ที่กำแพงถ้ำ ต้องขออภัยสำหรับสองภาพสุดท้ายด้วยนะคะ ลืมถ่ายป้ายคำอธิบายมาเลยไม่ทราบชื่อศิลปิน

 
ไฮท์ไลท์ของไฮไลท์! คืองานฉายโปรเจ็คเตอร์ 3D บนศิลปกรรมรูปปั้นทราย (3D Projector Mapping) ปีนี้เป็นเรื่อง ตำนานรักทัชมาฮาล เรื่องของจักรพรรดิชาห์ชะฮันและมเหสีจักรพรรดินีมัมทัส มาฮาล รวมถึงการยกทัพของราชวงศ์โมกุล ตื่นตาตื่นใจอย่างกับได้ดูหนังเลย ช่วงเวลาสั้นๆ 10 นาทีรู้สึกตื่นเต้น อินไปกับหนัง อาจจะด้วยบรรยากาศ รู้สึกมหัศจรรย์มากๆ ที่ชอบที่สุดคือปิดท้ายด้วยคำว่า Merry Christmas ถึงฝนข้างนอกจะยังตกอยู่ แต่ตอนนี้รู้สึกอบอุ่นใจจริงๆ ค่ะ

สุดท้ายท้องฟ้าเหนือเนินทรายทตโตริก็ยังไม่หยุดร้องไห้ กี้แอบไปส่องสถานีกระเช้าลอยฟ้าที่นั่งลงไปเนินทรายด้านล่าง มันเป็นที่นั่งเป็นไม่มีที่กั้น ไม่มีเข็มขัดรัด ที่นั่งเปียกซ่ก วินาทีนั้นมองเห็นภาพตัวเองนั่งแล้วลื่นปรื้ดหน้าทิ่มลงทราย แต่ถ้านั่งจริงๆ คงไม่อันตรายเพราะเขายังเปิดทำการตามปกติ แต่ไปคนเดียว กลัวไม่มีคนหามส่งโรงพยาบาล เลยหันหลังกลับไปนั่งกินไอศกรีมเมลอนอร่อยๆ รอรถบัสกลับ  
แวะมาเยี่ยมกันได้นะคะ 
เพจ 👉 Cookie Lifelong Learner
เว็บไซต์ 👉 https://cookiepong.com/

Cookie - Lifelong Learning

 วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 14.30 น.

ความคิดเห็น