สะพานรักบ้านเตย นครราชสีมา: ชมวิวทุ่งนา หมักหมูร้า ชิมขนมตาลเม็ด ทำอาหารพื้นถิ่นโคราช

เดินเล่นบนสะพานไม้ไผ่ ชมวิวทุ่งนาไกลสุดสายตา พร้อมเรียนรู้วิธีการทำ "หมูร้า" และ "ขนมตาลเม็ด" อาหารพื้นบ้านขึ้นชื่อของจังหวัดนครราชสีมา ที่ชุมชนบ้านเตย ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาค่ะ

พอนึกถึงจุดท่องเที่ยวเช็คอินที่เป็นสะพานยาว ๆ ให้นักท่องเที่ยวเดินเที่ยวชม บางคนอาจจะรู้สึกไม่ตื่นเต้นมากนัก เพราะรู้สึกว่าที่ไหน ๆ ก็สร้างสะพานทางเดินแบบนี้กันเต็มไปหมด แล้วแต่ละที่แตกต่างกันยังไงนะ?

หลังจากที่ได้ไปเที่ยว ไปสัมผัส พูดคุยเรื่องราวความเป็นมาของสะพานในแต่ละชุมชน พิระขอยืนยันว่าสะพานของแต่ละชุมชนนั้นมีเอกลักษณ์และความพิเศษของตัวเองที่แตกต่างกันค่ะ ถึงรูปลักษณ์ภายนอกจะดูคล้าย ๆ กัน แต่เรื่องราวเบื้องหลังสะพานแต่ละแห่งนั้นพิเศษไม่เหมือนใครจริง ๆ ค่ะ

อย่าง "สะพานรักบ้านเตย" หรือ "สะพานไม้ไผ่บ้านเตย" ที่ชุมชนบ้านเตย ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาแห่งนี้ ก็เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน ในการสร้างสะพานไม้ไผ่ทอดยาวไปกลางทุ่งนา เป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาชมบรรยากาศทุ่งข้าวที่สวยงามและกำลังเขียวขจีค่ะ

สะพานไม้ไผ่ที่นี่กว้างขวางและแข็งแรงดีมาก เดินสบายไม่ต้องกลัวตกเลยค่ะ

นอกจากสะพานไม้ไผ่แล้ว ยังมีสะพานไม้สีขาวทอดตัวคดเคี้ยวให้เราเดินเล่นถ่ายรูปสวย ๆ แบบนี้ด้วยค่ะ ใครที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้มหรือสีสดใส มายืนถ่ายรูปตรงนี้จะดูโดดเด่น สวยมากค่ะ

นอกจากการชมวิวทุ่งนาแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสภูมิปัญญาท่องถิ่นในการถนอมอาหารผ่าน 2 เมนูพื้นถิ่นประจำจังหวัดนครราชสีมา นั่นคือ


หมูร้า 

เป็นหนึ่งในเทคนิคการถนอมอาหาร เพื่อยืดอายุให้อาหารของเราสามารถเก็บได้นานยิ่งขึ้น แถมยังให้รสชาติที่แปลกใหม่อีกด้วยค่ะ วิธีการทำก็ง่ายมากค่ะ ใช้ส่วนผสมแค่ 3 อย่าง คือ หมูสามชั้น เกลือ และข้าวคั่วค่ะ

เราเลือกใช้หมูสามชั้น เพราะเป็นเนื้อหมูส่วนที่มีทั้งส่วนเนื้อและส่วนมัน ทำให้ได้สัมผัสที่นุ่มกำลังดี ให้ความมันที่พอเหมาะ ถ้าใช้ส่วนเนื้ออย่างเดียวจะทำให้เนื้อแข็งเกิดไป ถ้าใช้ส่วนมันอย่างเดียวก็จะทำให้รู้สึกนุ่มเละมันเยิ้มจนเกินไปค่ะ

วิธีทำหมูร้า เริ่มต้นด้วยการนำหมูมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ โรยเกลือแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันจนทั่ว เสร็จแล้วจึงโรยข้าวคั่วคลุกเคล้าให้ทั่ว พักเนื้อหมูเอาไว้ แล้วจึงค่อยบรรจุลงในภาชนะ ในอดีตชาวบ้านจะนำหมูร้าไปหมักในไห แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นบรรจุลงในกระป๋องพลาสติกเพื่อสะดวกในการแบ่งรับประทานและพกพาสะดวกค่ะ โดยต้องกดเนื้อหมูลงในภาชนะให้แน่น ให้อากาศเข้าในภาชนะน้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เน่าเสีย และเกิดรสเปรี้ยวจัดจนเกินไปค่ะ

นี่จึงเป็นภูมิปัญญาที่ช่วยให้เราสามารถเก็บหมูเอาไว้ได้นานขึ้น แถมยังทำให้เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอม และรสเปรี้ยวอร่อยยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

ขนมตาลเม็ด

ขนมตาลที่นี่แปลกกว่าที่อื่นตรงที่ที่อื่นจะใช้แป้งผสมกับเนื้อตาลจนได้เป็นขนมตาลที่มีเนื้อเนียนนุ่ม ส่วนขนมตาลเม็ดของที่นี่จะใช้ข้าวแทนแป้ง จึงทำให้ได้สัมผัสของข้าวเป็นเม็ด ๆ กรุบ ๆ กินแล้วรู้สึกคล้ายข้าวต้มมัดกลิ่นตาลค่ะ ให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่ดีค่ะ 

ใครที่อยากลองทำด้วยตัวเอง อย่าลืมติดต่อมาที่ชุมชนล่วงหน้านะคะ คุณป้า คุณย่า คุณยายจะได้จัดเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบเอาไว้ให้ค่ะ หรือถ้าใครอยากชิม ก็แวะมาหิ้วกลับบ้านกันที่ชุมชนนี้ได้เลยค่ะ

ใครที่สนใจอยากแวะมาเที่ยวชมที่นี่ อยากชมแปลงนาข้าวสาธิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสนุกกับกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการทำหมูร้า ทำขนมตาลเม็ด ซึ่งสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ ติดต่อสอบถามได้ที่ ผู้ใหญ่บ้าน สมบัติ โชติกลาง 0895827225 ค่ะ

------------------------------------

ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Pira Story ได้ที่

Pira Story

 วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 19.25 น.

ความคิดเห็น