สิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตของคนเราคือ “เวลา” หากแต่สิ่งมีค่านี้กลับไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของเรา เพราะเป็นสิ่งที่เรายืมมา ชีวิตจึงต้องคืนสิ่งมีค่านี้ในทุกนาทีที่พ้นผ่าน แต่ก่อนที่เวลาแห่งชีวิตจะถูกเรียกคืนอย่างไม่มีวันหวนกลับ ผมจึงขอใช้ชีวิตก้าวเดินไปตามจังหวะของหัวใจ ที่เต้นโครมครามทุกทั้งที่การเดินทางบทใหม่ได้เริ่มขึ้น

ครั้งนี้ ผมเลือกเดินทางไป 2 เกาะใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย คือ ชวา กับ บาหลี ที่แม้เป็นการเดินทางแบบ Walk In ที่ปราศจากการจองโรงแรมที่พัก หากแต่พร้อมสรรพด้วยข้อมูลการเดินทาง และหัวใจที่พร้อมจะก้าวเดินไปตามจังหวะของเวลาที่ก้าวไป …

กว่า 4 ชั่วโมงแห่งการเดินทาง นับตั้งแต่พระอาทิตย์เพิ่งพ้นขอบฟ้า จนฉายแสงจ้าสะท้อนผิวน้ำทะเลเกิดเป็นประกายระยิบระยับ เหมือนจะประกาศว่า ท้องทะเลบาหลีนี้สวยงามไม่แพ้ใคร


ห่างจากเกลียวคลื่นไม่ถึงร้อยเมตร เครื่องบินกำลังลงจอดที่สนามบินนานาชาติงูราห์ ไร (Ngurah Rai International Airport) ไม่ใช่แค่พวกเรา แต่ผู้โดยสารเกือบทุกคนต่างตื่นตากับซุ้มประตูศิลปะบาหลีที่หน้าสนามบิน เพราะนอกจากลวดลายที่สลักเสลาอย่างงดงามแล้ว ยังแปลกตาด้วยการไม่มีคานเชื่อมส่วนบน ทำให้เสาประตูแยกออกจากกัน เหมือนประหนึ่งประตูที่เจ้าบ้านเปิดกว้างเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก


เพราะบาหลีนั้นเลื่องชื่อในเรื่องชายหาดที่สวยงาม เรา 3 คนจึงไม่พลาดที่จะขอไปพิสูจน์ ด้วยการตั้งเป้าหมายว่าต้องไปนอนหาดคูต้าที่โด่งดังตั้งแต่คืนแรกของการมาเยือน แต่จะให้ไปโดยรถแท็กซี่ที่เหล่าคนขับหน้าเข้มยืนชักชวนแบบล้อมหน้าล้อมหลังก็ดูขัดกับการเป็นแบ็คแพ็คเกอร์ที่สุดแสนมั่นใจในตัวเอง จึงพากันเดินแบกเป้ฝ่าความร้อนแรงของแสงแดดไปยืนเก้ๆกังๆอยู่หน้าสนามบิน

ทันทีที่รถสองแถววิ่งผ่านจึงไม่รอช้าที่จะกระโดดขึ้นไปเป็นผู้โดยสารของรถสองแถวที่สุดแสนเก่า เพื่อไปยังจุดหมายแห่งการค้างแรมในวันนี้


ชายหาดคูต้าอันเรื่องชื่อนั่นอยากเห็น แต่อยากปลดเป้จากบ่าไปกองบนพื้นห้องพักก่อน ทันทีที่เริ่มเห็นชาวต่างชาติพลุกพล่าน ด้วยสัญชาตญาณของแบ็คแพ็คเกอร์มือฉมัง “หน่อย” สาวร่างเล็กที่ใจใหญ่เกินตัวจึงสุดแสนมั่นใจว่าเรามาถึงหาดคูต้าแล้ว เราจึงพากันลงจากรถ แต่การไปหาที่พักก็ถูกเบรกอย่างกะทันหัน ด้วยอีกหนึ่งสัญชาตญาณ แต่คราวนี้เป็นสัญชาตญาณแห่งสาวไทยใจนักช็อปที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในสาวไทยเกือบทุกคน “แต๋ว” จึงตรงรี่เข้าไปช็อปเครื่องประดับตั้งแต่วันแรกที่เหยียบบาหลี พร้อมชักชวนสาวหน่อยให้ช่วยกันเลือกอย่างสนุกสนาน ในขณะผมเริ่มรู้สึกเสียดายกับทุกนาทีที่เข็มนาฬิกาเดินผ่านไป เฮอ...รสนิยมต่างกันขนาดนี้ แล้วเราสามคนจะไปด้วยกันรอดไหมนี่


“ระวัง อย่าเหยียบ” นั่นคือคำพูดที่เราต่างเตือนกันเพื่อไม่ให้เผลอเหยียบเหล่ากระทงใส่ดอกไม้ใบน้อย ที่ชาวบาหลี ผู้นับถือศาสนาฮินดูนำมาวางไว้บนทางเท้าเพื่อบูชาเทพเจ้า จนผมต้องยึดการเจริญกรรมฐานในศาสนาพุทธเป็นสรณะว่า“ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” เพื่อตั้งสติให้มั่นทุกครั้งก่อนก้าวเดิน แต่แล้วผมก็เหยียบกระทงดอกไม้เข้าเต็มเปา เห็นทีกลับจากทริปนี้ต้องไปเข้าครอสกรรมฐานใหม่เสียแล้ว


แล้วความมั่นใจในการหาที่พักก็หมดไปเรื่อยๆ เพราะเราหาเกสท์เฮ้าส์ แห่งพักพิงของเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ไม่ได้เลย แต่เอาเถอะ เพราะออกท่องโลกครั้งใด ก็มักเป็นอย่างนี้ทุกที จนตอนนี้เริ่มปลงๆแล้วจึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการหาอาหารอร่อยๆรองท้องแทน

เห็นร้านอาหารร้านหนึ่งลูกค้าแน่นร้าน ทั้งคนพื้นที่และชาวต่างชาติจึงตรงรี่เข้าไปด้วยความมั่นใจว่ารสชาติต้องอร่อยและราคาต้องไม่แพง โดยอาหารที่มีกว่า 20 อย่างนั้น ดูๆแล้วหน้าตาไม่ต่างจากอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นปลาทอด ปลาผัดเผ็ด ผัดผัก หรือ ไข่พะโล้ เห็นเช่นนี้จึงบอกตัวเองว่า ทริปนี้ไม่อดตายแล้วเรา


จากการสอบถามชาวต่างชาติในร้านจึงได้ความว่า เราต้องเดินแบกเป้ไปอีกไกลโขกว่าจะถึงจุดศูนย์กลางของคูต้าซึ่งมากไปด้วยที่พัก แต่ดูจากเวลาที่เคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในเวลานี้เรื่องที่พักจึงเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องเที่ยวสิเรื่องใหญ่ เราจึงลืมสัญชาตญาณของแบ็คแพ็คเกอร์ที่ต้องยึดการเดินทางด้วยรถประจำทางเป็นสรณะจนสิ้น แล้วพร้อมใจกันโบกรถแท็กซี่เพื่อไปยังเดนปาซาร์ (Denpasar) จุดศูนย์กลางของเกาะบาหลีก่อนที่เข็มนาฬิกาจะเคลื่อนตัวไปมากกว่านี้

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.56 น.

ความคิดเห็น