...กลับมาอีกครั้งที่ยังวนเวียนอยู่แถวเขาหลัก กับการตามรอยเรื่องราวที่ผ่านมา 20 กว่าปีก่อน ที่ครั้งหนึ่งได้มาตระเวณท่องเที่ยวหมู่เกาะแถวจังหวัดพังงา หลังจากเก็บสแปร์ไปแล้ว 3 เกาะก็คือ

และเกาะต่อไปที่จะพาเพื่อนๆไปชมก็คือ คือ เกาะสุรินทร์ เช่นเดิมที่ผมยังคงใช้บริการจากเคาน์เตอร์ทัวร์แถวหน้าเขาหลัก ไปได้ทัวร์ one day trip ของ บ.Barracuda Diving ในราคา 2,500 บาท แต่ครั้งนี้ รถของบ.ทัวร์มารับผมจากเขาหลัก ไปขึ้นที่ท่าเรือ Namkhem Marina Pier&Restaurant ที่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านน้ำเค็ม ออกเดินทางด้วยเรือคาตามารันที่บรรทุกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบ 20 คน ทั้งลำมีผมเป็นนักท่องเที่ยวไทยคนเดียว แล้วมุ่งหน้าสู่เกาะสุรินทร์ระยะทางประมาณ 60 กม.ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงครึ่ง

หลังจากผ่านไป 1 ชม.กว่าเริ่มมองเห็นอ่าวช่องขาดของหมู่เกาะสุรินทร์ ที่คั่นระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือ - ใต้ สีน้ำทะเลสีครามไล่เฉดไปจนถึงใกล้ๆฝั่งจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเทอร์คอยซ์ ขนานไปตามหาดทรายสีขาวเนียนตา เรือได้จอดลอยลำก่อนถึงหาด เพื่อปล่อยให้พวกนักท่องเที่ยวลงไปดำผุดดำว่าย ดำน้ำดูปะการังชมสีสันต์โลกใต้ทะเล ผมเลือกยืนเก็บภาพ และซึมซับบรรยากาศและทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งอดีตเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ผมว่าสภาพที่เห็นไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ ยังคงสวยงามและมีความเป็นธรรมชาติอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่ผมเห็นขณะนั่งเรือหัวโทงเข้าฝั่ง นั่นคือโลกที่อยู่ด้านบนแต่ด้านล่างใต้ผิวน้ำลงไปผมจำได้ว่าเมื่อ 20 ปีก่อนบริเวณหน้าหาดเต็มไปด้วยปะการังน้ำตื้นที่มีมากมายสุดลูกหูลูกตาบัดนี้หายไปเกือบหมด เห็นแต่ผืนทราย อย่างดีก็เหลือแค่เป็นหย่อมๆ และอยู่ในบริเวณที่น้ำลึกกว่านี้ คงเป็นเพราะปัจจัยหลายๆอย่างที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปทั้งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว การทิ้งสมอลงไปโดนปะการัง,การเก็บปะการังไปขาย หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติที่เกิดสึนามิเมื่อหลายปีก่อนที่ทำให้ปะการังเสียหายและตายไป

เรือหัวโทงพาพวกเราเข้ามายังบริเวณเกาะสุรินทร์เหนือ อันเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวของหมู่เกาะสุรินทร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่พัก อาหารการกิน หรือทัวร์นำเที่ยวดำน้ำตามอ่าวต่างๆติดต่อได้ที่นี่เลย

ข้อมูลจำเพาะ : หมู่เกาะสุรินทร์ ประกอบ ด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี(เกาะสต๊อร์ค) เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) และเกาะกลาง(เกาะปาจุมบา) หมู่เกาะสุรินทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 135 ตารางกิโลเมตร หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นในเรื่องของความสวยงามใต้ทะเล ไม่ว่าจะเป็นปะการังนานาชนิด มีปลาทะเลที่สวยงามมากมาย นอกจากนี้ หมู่เกาะสุรินทร์ ยังมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยมากประกอบด้วย ป่าใหญ่ 3 ประเภท คือ ป่าดงดิบที่ขึ้นอยู่ทั่วเขา ประเภทที่ 2 คือ ป่าชายหาด ประเภทที่ 3 คือ ป่าชายเลนย้อนอดีตไปเมื่อหลายสิบปีก่อน กรมป่าไม้ได้ประกาศให้พื้นที่ หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 หมู่เกาะสุรินทร์ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศหมู่เกาะสุรินทร์ มีสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดู เนื่องจาก หมู่เกาะสุรินทร์ วางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่รอบเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของ หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือ หมู่เกาะสุรินทร์ มีน้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะ ความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน บนหมู่เกาะสุรินทร์เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด โดยมีพื้นน้ำตื้นๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้ เรียกว่า อ่าวช่องขาด ส่วนเกาะขนาดเล็กอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ไม่หนาแน่นนัก พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น เป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่มา : http://www.weloveandaman.com/

ผมเดินลัดเลาะเก็บภาพมาด้านหลังของเกาะ มาเจอกับหินรูปไก่ รูปเต่าที่เป็นเอกลักษณ์ของหาดด้านหลัง ช่วงกำลังถ่ายภาพอยู่เพลินๆ ไปเจอนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนที่ขาเจ็บมีไม้เท้าช่วยพยุงเดินโขยกเขยกมา เลยเข้าไปช่วยแล้วพูดคุยพอเข้าใจว่าเธอ backpack มากับเพื่อนไปเที่ยวภูเก็ตแล้วขับรถมอเตอร์ไซด์เที่ยวกัน แล้วเผอิญรถมอเตอร์ไซด์ล้มขาเจ็บ แต่จองทัวร์มาเที่ยวเกาะสุรินทร์ไว้แล้ว เลยไม่อยากทิ้ง ก็เลยมาทั้งๆที่เจ็บ ส่วนเพื่อนก็ไปเที่ยวกระบี่กันต่อ ส่วนเธอก็ลุยเดี่ยวเที่ยวคนเดียว เธอบอกว่าขากลับนัดกันไปเจอกับเพื่อนที่กรุงเทพ ก็เลยชวนเธอเดินเล่นและถ่ายรูปกัน หลังจากนั้นก็แยกย้าย เธอไปนั่งเรือเที่ยวชมเกาะ และพักบนเกาะอีก 1 คืน ส่วนผมก็ไปเที่ยวชมหมู่บ้านมอแกนต่อ

หลังจากทานข้าวกลางวันกันเรียบร้อย ขณะกำลังเดินไปขึ้นเรือเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างแหงนหน้าขึ้นไปมองบนยอดไม้และถ่ายรูปกันยกใหญ่..เจ้ากระรอกบินหรือบ่าง สัตว์ประจำถิ่นของเกาะนี่เอง

โปรแกรมต่อไปที่ทัวร์จะพาไปก็คือ ไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวมอแกนที่อ่าวบอน ซึ่งเป็น"ชาวเล"กลุ่มชาติพันธ์ุหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งชาวเลในประเทศไทยมีด้วยกัน 3 กลุ่มคือ อูรักลาโว้ย,มอแกลน และมอแกน ซึ่งชาวเล 3 กลุ่มนี้จะโยกย้ายถิ่นฐานไปตามหมู่เกาะต่างๆในอันดามันตามช่วงฤดูกาล แต่ปัจจุบันนี้เริ่มตั้งถิ่นฐานกันถาวรแล้วโดยเฉพาะ 2 กลุ่มแรกที่ถือเป็นกลุ่มไทยใหม่ พูดภาษาไทยได้ ส่วนกลุ่มมอแกนที่อาศัยอยู่บนเกาะสุรินทร์นี้ก็เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมากขึ้นหลังจากที่เกิดสึนามิเมื่อ 10 กว่าปีหลังที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปสร้างบ้านเรือนชั่วคราวทางบ้านน้ำเค็มแต่ทนคิดถึงบ้านไม่ไหว ทางการเลยมาสร้างที่อยู่ให้ใหม่ในภายหลังอีกครั้งบนเกาะสุรินทร์และมีแนวโน้มว่าจะตั้งหลักแหล่งถาวรมากขึ้น

ชาวมอแกนนั้นอาชีพหลักคือเป็นชาวประมง ออกเรือไปตามหมู่เกาะต่างๆเพื่อหาปลา งมหอย จับปู จับปลิงทะเล รังนก ไปแลกเปลี่ยนกับอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวันกับเถ้าแก่บนฝั่ง ปัจจุบันหลังจากที่เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน ก็เริ่มทำค้าขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวเป็นพวกงานฝีมือต่างๆ จำพวกกำไลเปลือกหอย เรือก่าบางไม้จำลอง (เรือก่าบางคือเรือขุดของชาวมอแกนที่ทำจากไม้ระกำแต่อายุการใช้งานสั้นปัจจุบันหันมาใช้ไม้กระดาน)

ถึงแม้ทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอแกนจะเปลี่ยนไป เนื่องด้วยถูกกควบคุมดูแลโดยกรมอุทยานฯ ที่ต้องทำหน้าที่อนุรักษ์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อันเป็นอาหารประทังชีวิตของชาวมอแกน วิถีชีวิตพวกเขาจึงค่อนข้างถูกจำกัดลง แต่เมื่อวิถีชีวิตชาวมอแกนถูกเปิดเผยให้โลกภายนอกรับรู้มากขึ้น มีความเจริญเข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น ชาวมอแกนเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา มอแกนรุ่นใหม่เริ่มไม่เป็นชาวประมง เริ่มไปรับจ้างขับเรือบรรทุกนักท่องเที่ยวเที่ยวชมเกาะ รับจ้างกรมอุทยานหรือรับจ้างทำงานบนฝั่งมากขึ้น แต่ขนบธรรมเนียมความเชื่อเก่าๆก็ยังคงรักษาไว้อยู่ อย่างเช่นการบวงสรวงเสาวิญญาณบรรพบุรุษ และความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ ตอนที่มีเหตุการณ์สึนามิ พวกเขาก็รู้ล่วงหน้าและยังช่วยพานักท่องเที่ยวหนีภัยขึ้นไปอยู่บนเขา ช่วยลดการสูญเสียลงไปได้ไม่มากก็น้อย บ้านเรือนของชาวมอแกน ก็ยังคงอนุรักษ์ความเป็นดั้งเดิมคือมุงด้วยหลังคาจากแต่เพิ่มเติมเข้ามาคือมีแผงโซล่าเซลสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนเรือก่าบางถือเป็นพาหนะที่ทุกบ้านต้องมีเพราะเป็นเหมือนเครื่องมือทำมาหากิน และเป็นที่พักอาศัยในตอนโยกย้ายถิ่นฐานหากินไปยังหมู่เกาะต่างๆแถบนี้

ชาวมอแกนเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นคนไม่มีสัญชาติ และไม่มีเชื้อชาติ ถึงแม้จะเกิดในประเทศไทย แต่ได้รับพระราชทานนามสกุลจากสมเด็จย่า ว่า "กล้าทะเล" ดังนั้นชาวมอแกนทุกคนจึงถือนามสกุลเดียวกันหมด ชาวมอแกนไม่มีความรู้ น้อยคนที่จะได้รับการศึกษาทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชาวมอแกนยังคงเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย เพราะภาครัฐก็ไม่ได้มาดูแลใกล้ชิดเหมือนชาวเลที่อยู่ทางฝั่งภูเก็ตอย่างเช่นกลุ่มอูรักลาโว้ย กลุ่มมอแกลน ทางฝั่งพังงาที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง


บ่ายคล้อย เรือก็ขนนักท่องเที่ยวกลับ และปล่อยให้ดำน้ำอีกจุดเป็นจุดสุดท้าย ที่บริเวณหน้าอ่าวบอน เสร็จแล้วก็เดินทางกลับไปยังท่าเรือบ้านน้ำเค็ม..พบกันใหม่กับรีวิวครั้งหน้าที่จะพาไปท่องเที่ยวยัง อ่าวพังงา บ้าง..

การเดินทาง

ไม่ว่าจะเดินทางด้วยวิธีใด ให้มาพักยังบริเวณเขาหลักจะสะดวกที่สุด มีที่พักให้เลือกมากมายตั้งแต่ราคาหลักร้อย แล้วไปหาซื้อทัวร์จากบริเวณถนนหน้าเขาหลัก ราคา one day trip ไล่เลี่ยกันต่างกันไม่กี่ร้อย แต่ถ้าจะเที่ยวให้ทั่วก็ซื้อทริปแบบ 2 วัน 1 คืนหรือจะ 3 วัน 2 คืนก็ได้ ที่พักก็พักบนเกาะสุรินทร์มีทั้งเต้นท์และบ้านพัก


-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ

-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง Fanpage : สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว

-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด































สตั๊ดดอย ร้อยเรื่องราว

 วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 11.48 น.

ความคิดเห็น