• ตีพิมพ์แล้วใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2561 ในชื่อบทความ "เดินโรงเจ อิ่มท้อง อิ่มบุญ"
  • ได้รับอนุญาตในการนำลงเว็บไซต์นี้แล้ว โดย text ทั้งหมดในบันทึกนี้เป็นต้นฉบับก่อนการ Edit โดยบรรณาธิการ
  • ผู้เขียน - วนิดา แก่นจันทร์

เทศกาลกินเจ ช่วงเดือน 9 ของทุกปี เป็นหนึ่งเทศกาลของคนจีนในเมืองไทยที่ฉันเห็นจนชินตา และรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย อาหารเจจากเดิมที่เคยเห็นก็มีวิวัฒนาการให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น รสชาติที่เดิมฉันเคยขยาดมาปีนี้กลับต้องร้องขอเติมอีกไม่ขาด...

วันนี้ฉันมีโอกาสได้เดินโรงเจในย่านฝั่งธนบุรีต่อไปยังฝั่งจังหวัดนครปฐมที่น้อยนักจะมีคนรู้จัก ได้แวะเวียนทั้งโรงเจ และโรงครัวจนอิ่มหนำ เรียกได้ว่าเป็นทริปอิ่มบุญ อิ่มท้องโดยแท้...


อิ่มบุญ อิ่มใจโรงเจฝั่งนครหลวง

จากจุดรวมพล รถเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายปลายทางแรก โดยใช้เส้นทางถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เรียกได้ว่าถนนสายนี้เป็นหนึ่งในถนนที่บุกเบิกการคมนาคมทางบนในย่านฝั่งธนบุรีเลยทีเดียว จากถนนพระเจ้าตากสินผ่านวงเวียนใหญ่ พี่ชายคนเดิมเล่าเกร็ดทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางที่เราสัญจรผ่านให้ฟังด้วยเสียงเจื้อยแจ้ว...

สถานที่นี้มีเรื่องเล่า... ยังคงเป็นวลีที่ทำให้ฉันหวนนึกถึงบรรยากาศเมื่อตอนลงพื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ ครั้งยังทำรายการสารคดี คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนนั้นๆ มักเล่าเรื่องราวสมัยยังสาวซึ่งเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ของสถานที่ให้ได้ยินอยู่เสมอ...

รถมินิบัสพาสมาชิกออกสู่ถนนอินทรพิทักษ์ ก่อนกลับรถเพื่อวิ่งเข้าสู่ถนนเพชรเกษม และจุดหมายปลายทางแรกของเราอยู่ภายในซอยเพชรเกษม 2 เดินเข้าซอยไปประมาณ 300 เมตรผ่านหน้าโรงเรียนฤทธิณรงค์รอน เลี้ยวซ้ายเข้าตรอกเล็ก ๆ ก็ถึงด้านหน้า "โรงเจกวนอิมตึ๊ง"

ท้องฟ้าสีสดใส ที่ "โรงเจกวนอิมตึ๊ง"

ภายใน "โรงเจกวนอิมตึ๊ง"

ในความเป็นจริงแล้ว ฉันก็เหมือนคนทั่ว ๆ ไปที่คิดว่าโรงเจแห่งไหนก็เหมือนกัน ซึ่งความเข้าใจผิดข้อนี้ก็ได้รับความกระจ่างจาก ป๊อบ - ปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ พี่ชายคนเก่งคนเดิมของฉัน ที่ให้ข้อมูลไว้ว่า...

"นิยามคำว่าโรงเจ โรงเจคนทั่วไปคิดว่าคือศาสนสถานของคนจีนที่ข้างในมีการกินเจ แต่ในความเป็นจริง โรงเจมีแยกหลายสาย ถ้าเป็นโรงเจที่บูชา นวราชา ที่เป็นประธานในเทศกาลกินเจ จะเป็นโรงเจที่สร้างเป็นลักษณะคล้ายศาลเจ้าที่บูชาเทพ 9 พระองค์นั้น แบบที่ 2 คือโรงเจสายโกวเนี้ย โกวเนี้ยคือสตรีชาวจีนที่ปฎิบัติธรรม กินเจ ปวารณาตัวตลอดชีวิต และสืบทอดสายการสร้างโรงเจมาจากประเทศจีน ลักษณะก็เป็นสำนักชีฝ่ายจีนแต่ไม่มีการปลงผมแบบคนไทย อย่างที่นี่โรงเจกวนอิมตึ๊ง เป็นแบบที่ 3 ซึ่งบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิม จะเป็นโรงเจฝ่ายภิกษุจีนฝ่ายมหายาน และแบบที่ 4 เป็นโรงเจสายพระโพธิสัตว์ มีการบูชาเทพ บูชาเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งก็จะทานเจกัน โรงเจ 3 - 4 แบบหลังจะมีการกินเจกันตลอดครับ"


อิ่มใจ อิ่มท้อง เมนูเจตลอดทริป

หลังจากไหว้เจ้าแม่กวนอิม และพระพุทธเจ้า 3 พระองค์แบบมหายานที่อยู่อาคารด้านหลังของโรงเจกวนอิมตึ๊งเสร็จเรียบร้อย พวกเราก็เตรียมตัวเดินทางไปต่ออีกหนึ่งโรงเจในฝั่งนครหลวง นั่นคือ "โรงเจเทียนอิกฮุกตึ๊ง" อีกหนึ่งโรงเจที่ปลีกวิเวก ร่มรื่น อยู่ห่างไกลชุมชน พวกเราไหว้พระพลางฟังเสียงบทสวดมนต์ก้องกังวานเป็นสิริมงคล ก่อนจะถูกแม่ครัวเรียกเข้าไปลิ้มชิมรสชาติอาหารเจของที่นี่อีกเช่นเคย...

"โรงเจเทียนอิกฮุกตึ๊ง"

หากถามว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การกินเจนั้นได้เปลี่ยนตามหรือไม่ ป๊อบได้ให้คำตอบว่า ไม่ว่าจะเป็นพิธี หรือการปฎิบัติตน ยังคงเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ ผู้คน ที่ร่วมในเทศกาลกินเจต่างหาก

“พิธีและการปฎิบัติตัวไม่เปลี่ยนครับ แต่ว่าคนกินเจเปลี่ยน เปลี่ยนไปในทางไหน อย่างแรกคือกลุ่มผู้กินเจเปลี่ยน อย่างที่บอกว่าเทศกาลกินเจไม่ใช่เทศกาลหลักที่เราทุกคนจะต้องทำ และอีกอย่างสมัยก่อนการกินเจเราคิดว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จนหลายปีหลัง และกระแสวัฒนธรรมจีนเริ่มเข้ามา บวกกับกระแสชีวจิตอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้การกินเจเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่มากินเจมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพียงแต่ว่านัยยะการกินเจเปลี่ยน กลายเป็นกระแสที่ว่ากินเจเพื่อแก้กรรม สะเดาะเคราะห์ ขอโชคลาภต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่นัยยะโดยแท้จริงของการกินเจครับ”

แล้วเนื้อแท้ของการกินเจคืออะไร? คือการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต เอื้อเฟื้อเผยแผ่ซึ่งกันและกัน ฉันกินก๋วยจั๊บที่โรงเจเทียนอิกฮุกตึ๊งทำแจกผู้ที่เข้ามายังโรงเจจนหมด ภายในโรงครัวแม่ครัวและทีมงานต่างลงไม้ลงมือปรุงก๋วยจั๊บอย่างตั้งใจ เด็กชายคนหนึ่งก็ทำหน้าที่เดินเอาแก้วน้ำดื่มมาแจกอย่างขยันขันแข็ง ทุกคนไม่มีเสียงบ่นว่าเหนื่อย ทุกคนบอกให้ฉันเติมก๋วยจั๊บด้วยรอยยิ้ม จะเรียกว่าฉันอิ่มทั้งใจ และอิ่มท้องก็คงไม่ผิดนัก เสียงพี่ชายคนเดิมเรียกรวมพล หลังจากนี้พวกเราจะนั่งรถไปต่อยังโรงเจฝั่งนครปฐม ร่มรื่นริมแม่น้ำนครชัยศรี...


โรงเจ UNSEEN ที่ไม่มีในแผนที่

โรงเจแห่งที่ 3 เป็นโรงเจอายุกว่า 100 ปี ชื่อว่า “โรงเจย่งเฮงตั้ว” ไม่ไกลจากตลาดท่านามากนัก ฉันลองนำชื่อศาลเจ้าไปค้นหาในแผนที่ ปรากฏว่าไม่มีชื่อสถานที่นี้อยู่บนแผนที่เลย ซึ่งได้ข้อมูลในภายหลังว่าปกติโรงเจแห่งนี้ไม่ได้เปิดให้เข้ามาเป็นปกติ ยกเว้นในช่วงเทศกาลกินเจจึงเปิดให้เข้ามากราบไหว้ได้นั่นเอง

เดิมทีโรงเจแห่งนี้เป็นอาคารไม้ ปลูกอยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน ต่อมาได้ยกอาคารศาลเจ้าไม้ เข้าไปตั้งด้านในฝั่งพร้อมยกพื้นสูง อาคารศาลเจ้าไม้ยังคงสภาพเดิมและมีความสมบูรณ์ ด้านหน้าประตูมีภาพเขียนบอกเล่าเรื่องราวของ 24 ยอดกตัญญู เป็นการสอนสั่งผ่านวิถีชีวิตของคนจีนบรรพบุรุษส่งผ่านต่อมายังลูกหลานคนจีนในประเทศต่าง ๆ


ถัดจากโรงเจย่งเฮงตั้ว พวกเราไปขอพรกันต่อที่ “ศาลเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ย” ศาลเจ้าเล็กตั้งอยู่ริมทาง หากมองผิวเผินคงไม่ทราบว่าอาคารไม้เล็ก ๆ เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าซึ่งมีเทพเจ้าแห่งโชคลาภไฉ่สิ่งเอี๊ยประทับอยู่ เรียกว่าที่นี่ก็ UNSEEN ไม่แพ้กัน...

ศาลเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ยทั้ง 3 ภาพนี้คือถ่ายโดย ป๊อบ - ปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์


ผู้ให้ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน

ตลอดทั้งวันนี้ พวกเราเข้าออกโรงเจกว่า 5 แห่ง การได้เข้าสักการะในโรงเจแต่ละแห่งทำให้ฉันได้ทำความเข้าใจในความแตกต่างหลายอย่างของโรงเจ ได้เห็นพิธีกรรมและการปฏิบัติในเทศกาลกินเจที่เคยเข้าใจผิด การศรัทธาในวัฒนธรรมประเพณีของคนรุ่นใหม่ซึ่งยังคงยึดถือปฎิบัติตามบรรพบุรุษ และได้เห็นความเอาใจใส่ผู้ที่แวะเวียนกันมาโรงเจอย่างดีเสมือนเป็นคนในครอบครัว ล้วนสร้างความประทับใจไม่น้อย

พวกเราเดินทางมาถึง “โรงเจเทียนเต๋าตั๊ว” โรงเจแห่งสุดท้ายของวันนี้ในเวลาเย็นแล้ว เดินเข้าไปในโรงเจ ลูกหลานบรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายจีนกำลังทำพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมของเทศกาลกินเจ ก่อนจะนำอาหารแห้งต่าง ๆ มาแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

"โรงเจเทียนเต๋าตั๊ว"

ส่วนฉันก็ถูกเชื้อเชิญให้เข้าโรงครัวอีกเช่นเคย ผัดผักบุ้ง และเมนูเจทั้งคาวและหวานต่าง ๆ ถูกยกมาเสิร์ฟจนเต็มโต๊ะ หากให้เลือกความอร่อยของอาหารจากโรงเจที่ไหนมาเป็นอันดับหนึ่ง ฉันคงเลือกไม่ได้ เพราะอาหารเจที่ได้ลิ้มลองรสชาติไปในวันนี้ ล้วนอร่อยจนเปิดโลกแห่งการกินเจให้แก่ฉันไปเสียแล้ว...


อีกหนึ่งโรงเจที่ฉันได้ไป คือ "โรงเจเปาเกงเต๊ง" ภาพสวยๆ บรรยากาศภายในโรงเจค่ะ


เนื่องจากเดินทางไปเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ลืมไปแล้วว่าอาหารแต่ละอย่างเป็นของที่ใดบ้าง ฉะนั้นฉันจึงขอรวมภาพอาหารเจ สุดอร่อย ที่เปิดโลกแห่งการรับประทานไว้ตรงนี้ค่ะ


ทำไมต้องกินเจเดือน 9!?

ทำไมต้องเดือน 9 ประเทศจีนแบ่งออกเป็น 4 ฤดู ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ช่วงเดือน 9 ของประเทศจีนจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูใบไม้ร่วง เข้าสู่ฤดูหนาว ในช่วงเวลานั้น สัตว์น้อยใหญ่ต่าง ๆ กำลังจำศีล และวางไข่เพื่อสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป จึงเป็นกุศโลบายของคนจีนในอดีตว่าให้ช่วงเวลาเดือน 9 นี้เป็นช่วงเวลาแห่งการละเว้นชีวิตนั่นเอง

สัญลักษณ์ตะเกียง 9 ดวงในเทศกาลกินเจของโรงเจเปาเกงเต๊ง

เทศกาลกินเจเดือนเก้า เป็นเทศกาลที่แยกออกมาจาก 8 เทศกาลหลักของชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทย เป็นเทศกาลที่ใครใคร่ศรัทธากินเจก็ทำ ใครกินเจไม่ได้ก็ไม่เป็นไร นัยยะการกินเจของชาวจีนโบราณ คือการกินเจเพื่อจิตเป็นกุศลและเมตตาแก่ผู้อื่น ไม่ได้เพื่อตัวเราเอง

จวบจนปัจจุบัน การกินเจยังคงปฎิบัติเหมือนเดิม และมีคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมจีนและร่วมปฎิบัติในเทศกาลกินเจเพิ่มมากขึ้น การกินเจในเทศกาลเพื่อเป็นกุศล ผู้ปฎิบัติต้องถือศีลและกินเจ หลักเกณฑ์ที่ง่ายที่สุด คือการละเว้นและไม่เบียนเบียดสัตว์ ละเว้นผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด ปัจจุบัน อาหารเจหาไม่ยาก อีกทั้งเมนูก็มีให้เลือกอย่างหลากหลายค่ะ

ผู้ให้ข้อมูล: ป๊อบ - ปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์

Nida Mailo

 วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 10.55 น.

ความคิดเห็น