เพื่อบันทึกเที่ยวในการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ได้เก็บไว้เป็นความทรงจำและความประทับใจในที่ได้ไปเยือน อย่างในครั้งนี้ ที่ได้เดินทางจาก จ.สุโขทัย และผ่านมาที่ จ.พิษณุโลก ก็ต้องแวะกราบพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  เพื่อความเป็นสิริมงคลและเดินทางไปในที่ต่าง ๆ อย่างปลอดภัย แก่ตนเอง  วัดแห่งนี้ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "วัดใหญ่ " ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ด้านทิศตะวันออก ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเป็นศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

ในวันที่อากาศร้อนระอุพอสมควรในช่วงปลายเดือนมีนาคม จึงเห็นผู้คนที่มากราบไหว้หลวงพ่อพระพุทธชินราช  อย่างบางตา ความเป็นมาของวัดใหญ่แห่งนี้ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่เชื่อกันว่า สร้างมาก่อนกรุงสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่ครั้งอดีต เพราะมีหลักฐานแผ่นศิลาจารึกสุโขทัยว่า

" พ่อขุนศรีนาวนำถม ทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนถธเจดีย์ " พงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า " ราวพุทธศักราช 1900  พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก  หรือ (พระมหาธรรมราชาลิไท ) เป็นมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงสร้างวัด พระศรีรัตนมหาธาตุ ขึ้นในที่ปัจจุบันนี้ มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหารทั้ง 4 ทิศ มีระเบียง 2 ชั้น และให้ปั้นหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เป็นพระประธาน ในพระวิหารทั้ง 3 หลัง นั้นก็คือ พระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา

ในส่วนวิหารหลังเล็ก ๆ ด้านขวามือ เมื่อเดินเข้ามาสูวิหารพระพุทธชินราช ด้านฝั่งแม่น้ำน่าน เป็นวิหารของ "พระเหลือ "  ซึ่งเป็นเศษทองสัมฤทธิ์ ที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูป ทั้งสามองค์นั้นเอง สิ่งสำคัญในวัดที่ผู้คนมาแล้ว ควรจะมาชมกราบไหว้กันก็มีหลายที่ เช่น 1.พระพุทธชินราช ,พระชินสีห์ ,พระศรีศาสดา 2.บานประตูประดับมุก 3.พระเหลือ 4.วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน 5. พระอัฎฐารส 6.วิหารพระขาว พระดำ พระสังกัจจายณ์ เป็นต้น  ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชม

วิหารที่ตั้งพระพุทธชินราช หันหน้ามาทางทิศตะวันตก ในบางกระแส กล่าวไปในทางความเชื่อว่า เมื่อเข้าไปในวิหารเพื่ออธิษฐานขอพร ตั้งจิตต่อองค์ท่านแล้วความประสงค์ต่อพร ที่เราขอย้อมย้อนกลับออกมาทางทิศตะวันตก จะทำให้โรคภัยสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ตกไปตามตะวันนั้นเอง

ความงดงามอ่อนช้อย ของพระพุทธชินราช ตามแบบศิลปะสุโขทัย มีเส้นรอบพระวรกายอ่อนช้อย ชายผ้าสังฆาฎิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระพักตร์เอิบอิ่มค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง และปลายนิ้วมือทั้งสี่นิ้วยาวเสมอกัน ด้านข้างองค์พระพุทธชินราช ยังมีท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ คอยปกปักรักษา สถานที่แห่งนี้ด้วย

ที่ผนังด้านทางเข้าออก ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ลายเส้นสีทองมีความสวยงามมาก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก อดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่เขียนลวดลายได้อย่างลงตัวเหมือนว่ามีชีวิตเลยทีเดียว

กว่า 666 ปี ที่วัดพระพุทธชินราชแห่งนี้ อยู่คู่เมืองพิษณุโลกมา และในแต่ละวันแต่ละช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ จึงมีผู้คนตลอดนักท่องเที่ยวมากมาย ยังคงแวะเวียนมากราบไหว้ และชมความงดงามเสมอมามิได้ขาด ซึ่งทางผู้เขียนได้มาเยือนเยี่ยมกราบไหว้ด้วยในครั้งนี้ จึงนำข้อมูลมาลงไว้เป็นความรู้คร่าว ๆ ที่ได้มาและได้รู้เป็นข้อมูลความเป็นมาของวัดใหญ่ด้วย

ด้านทิศใต้ของวิหารพระพุทธชินราช ยังมีวิหารขนาดกลาง ชื่อว่า พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน มีหีบศพขนาดใหญ่ ทำด้วยหินศิลา ซึ่งสมมติว่า เป็นหีบบรรจุร่างพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเอง โดยมีพระบาทขาทั้งสองข้าง ยื่นล้ำออกมาด้วย

มาที่ วิหารของพระศรีศาสดา อยู่ทางด้านทิศใต้ ของวิหารพระพุทธชินราช วัดใหญ่ เช่นกัน โดยองค์จริงในปัจจุบัน ประดิษฐาน ที่วิหารมุข ด้านหน้าคู่กับพระพุทธไสยาส์ ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กทม.  องค์ที่ตั้งในวิหารนี้ได้สร้างขึ้นมาแทน องค์เดิม เป็นปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย สร้างด้วยสำริดลงรักปิดทอง ขนาด 4 ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว

มาที่ วิหารพระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานด้านทิศเหนือ ของวิหารหลวงพ่อพุทธชินราช มีขนาด 5 ศอก 4 นิ้ว สูง 7 ศอก สร้างด้วยสำริดลงรักปิดทอง องค์จริงประดิษฐานในอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.โดยได้สร้างองค์จำลอง ประดิษฐานไว้แทน เช่นกัน

วิหารหลวงพ่อดำ เป็นอีกแห่ง ที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้เช่นกัน เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยกรุงสุโขทัย เช่นกัน ชาวบ้านมากราบไหว้เห็นเป็นสีดำ เลยเรียกว่า หลวงพ่อดำ ตามที่เห็น   ในส่วนต่อมาก็จะเป็น"   วิหารของหลวงพ่อคง ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระยืนอัฐารส  " เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย สร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง

ส่วนวิหาร ที่ตั้งหลวงพ่อขาว เชื่อกันว่าหลวงพ่อขาวสร้างมาแต่สมัยเมื่อสร้างวัดกันเลยทีเดียว ก่อด้วยอิฐถือปูน มีขนาดหน้าตัก 2.39 ม. สูง  3.39 ม.  มีความเชื่อว่าใครมากราบไหว้จะมีความเจริญรุ่งเรืองทำ ให้จิตผุดผ่อง ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง และไร้โรคาเบียดเบียน

ทึ่  วิหารพระสังกัจจายณ์ ก็เป็นอีกที่ ของผู้คนที่นิยมมากราบไหว้ขอพรเช่นกัน เพราะเชื่อกันว่า จะมีโชคมีลาภ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยาก ก็ต้องมาบูชากราบไหว้กันดู

ด้านหลังของวิหาร ยังมีพระยืนขนาดใหญ่องค์เป็นสีทอง เหลืองอร่ามสวยงาม เรียกกันว่า พระอัฎฐารส ทรงประทับยืนประทานพร สูง 18 ศอก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มือขวายกขึ้นเสมอหน้าอก มือซ้ายวางเรียบลงข้างกาย และยังมองเห็นพระปรางค์เป็นฉากด้านหลัง  โดยพระปรางค์นี้อยู่ด้านในกำแพง ประดิษฐานพระสารีริกธาตุ

ในการเดินทางมากราบหลวงพ่อพระพุทธชินราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายภายในวัด สามารถเดินทางมาได้หลายเส้นทาง สะดวกทั้งรถยนต์ส่วนตัว หรือว่ารถโดยสารสาธารณะตลอดเครื่องบิน ก็มีมาที่พิษณุโลกได้ตลอดทุกช่วงเวลา โดยเข้ามากราบไหว้ฟรีตลอด เปิดแต่เวลา 06.00 น.-18.00 น.

ในการเดินทางมาในครั้งนี้ของผู้เขียน ใช้รถยนต์ส่วนตัว มาตะลอนทัวร์ค่ำใหนนอนนั้น อย่างวันนี้ จากการเดินทางไกลติดต่อกันหลายวัน คืนนี้ผ่อนคลายพักนอน จอดรถพักเอาแรงสักคืนและเติมพลังงาน ที่ร้าน" ทินกรลาบเป็ด ณวังทอง  "  อ.วังทอง พิษณุโลก 

ที่ร้านนี้ มีอาหารที่หลากหลายให้ลองลิ้มชิมดู และ มีลาบเป็ดที่ว่าเด็ด ของทางร้านเป็นที่แนะนำ  คืนนี้ได้ฝากท้อง และผ่อนคลายเมื่อยล้า จากการเดินทางไกล ฟังเสียงเพลงเพราะ ๆ คลายเครียด จิบน้ำชามีฟอง เบา ๆ ก็หายเมื่อยได้พอสมควร

ใครผ่านไปไหว้พระ ทั้งขาล่องและขากลับ ลองแวะชิมดู ร้านทินกรลาบเป็ด ณ วังทอง เส้นทางสายวังทอง-พิษณุโลก-อ.วังทอง และเดินทางต่อมาวัดผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์ ได้ไม่ไกล เจ๊ใหญ่บริหารและบริการ แบบเป็นกันเอง ครับ จุดหมายต่อไป ขึ้นภูทับเบิก และไปไหว้ชมพระธาตุผาซ่อนแก้ว  การเดินทาง ทำให้เรา ได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ เป็นกำไรชีวิต เมืองไทย ไม่ไป ไม่รู้..

โดย.ณ วงเดือน

 วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 19.27 น.

ความคิดเห็น